สถานการณ์แรงงาน เม.ย.67 ผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนว่างงานลดลง

10 มิ.ย. 67

ปลัดกระทรวงแรงงาน เผย สถานการณ์แรงงาน เม.ย.67 ผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนว่างงานลดลง ตลาดจ้างงานภาคบริการเติบโตดีขึ้น

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงภาพรวมสถานการณ์ด้านแรงงาน จากข้อมูลในเดือนเมษายน 2567 ของกองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานพบว่า ขณะนี้มีแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มีอยู่จำนวน 11,857,864 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.70 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2566 ที่มีอยู่จำนวน 11,659,514 คน แต่เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. 2567 ที่มีอยู่จำนวน 11,882,607 คน ลดลงร้อยละ -0.21

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ส่วนสถานการณ์การว่างงานของไทยในระบบประกันสังคมในเดือน เม.ย.2567 มีผู้ว่างงาน จำนวน 228,840 คน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.93 และ เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.67 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.74 โดยอัตราการว่างงานในระบบประกันสังคมในเดือน เม.ย.2567 อยู่ที่ร้อยละ 1.89 และจำนวนการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงานผ่านระบบขึ้นทะเบียนและรายงานตัวผู้ประกันตนกรณีว่างงานผ่านระบบออนไลน์ มีจำนวน 84,401 คน ซึ่งลดลงจากเดือน มี.ค.67 จำนวน 766 คน หรือลดลง -0.90 และลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2566 อยู่ที่จำนวน 3,220 คน หรือลดลง -3.68

“จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ภาพรวมสถานการณ์การจ้างงานของผู้ประกันตน ม.33 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะสาขาที่พักแรม ร้านอาหาร การค้า และการขนส่ง และสถานที่จัดเก็บสินค้าที่ฟื้นตัวได้ดี ในขณะที่สถานการณ์การว่างงาน และการเลิกจ้างมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสาขาที่ยังมีอัตราการว่างงานและการเลิกจ้างสูง ได้แก่ การโทรคมนาคม กิจกรรมไปรษณีย์ การรับส่งพัสดุภัณฑ์ และการผลิตภาพยนตร์ วีดีทัศน์และรายการโทรทัศน์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน รวมถึงการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้น” นายไพโรจน์ กล่าว

นายไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ว่างงาน ผมได้สั่งการให้กรมการจัดหางานเตรียมความพร้อมในการMatching งาน ให้กับผู้ที่ประสบปัญหาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้มีตำแหน่งงานว่างสะสมอยู่ 505,553 อัตรา ตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.แรงงานด้านการประกอบ,แรงงานบรรจุผลิตภัณฑ์ 2.พนักงานขายของหน้าร้านและพนักงานสาธิตสินค้า, พนักงานขายโฆษณาและตัวแทนนายหน้า, ตัวแทนฝ่ายขายด้านเทคนิคและการค้า 3.เจ้าหน้าที่สำนักงานอื่นๆ 4.เจ้าหน้าที่คลังสินค้า และ5.พนักงานรับส่งเอกสาร พนักงานขนสัมภาระ และพนักงานขนส่งสินค้าอื่นๆ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถช่วยเหลือบรรเทาได้

สำหรับผู้ที่ต้องการสมัครงาน สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-10 หรือสมัครงานผ่านทางแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการว่างงานโดยจะมีการรองรับการลงทะเบียนผู้ว่างงานหรือผู้หางาน ตลอดจนสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวประชาสัมพันธ์ เป็นกระแส