สส.พัทลุง หวั่น งบฯปี 68 ก่อพายุหนี้ สวนทางสภาพเศรษฐกิจ

10 มิ.ย. 67

 

สส.พัทลุง หวั่น งบฯปี 68 ก่อพายุหนี้ สวนทางสภาพเศรษฐกิจ วอนพี่น้องประชาชนติดตามอย่างใกล้ชิด ดักทางรัฐบาลหมกเม็ด 

วันที่ 10 มิ.ย. 67 นาย ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในวันที่ 19-21 มิ.ย.นี้ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ แต่ที่น่ากังวลคือ ถึงตอนนี้ สส.และพี่น้องประชาชนยังไม่ได้เห็นเอกสารฉบับเต็มเลย 

เนื่องจากยังต้องรอให้ผ่านการพิจารณาของ ครม. ในวันที่ 11 มิ.ย. เสียก่อน ทำให้เหลือเวลาให้ สส.ได้ศึกษารายละเอียดทั้งหมดประมาณหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น 

แต่ถึงอย่างนั้นตนก็อยากให้พี่น้องประชาชนติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจมีการหมกเม็ดอะไรไว้ เนื่องจากข้อมูลล่าสุดที่มีการเปิดเผยออกมา พบว่า งบประมาณปี 68 มีข้อสังเกตหลายประการที่จะพาประเทศไทยเข้าสู่ ยุคกู้หนี้ยืมสินอย่างเต็มตัว สวนทางกับความสามารถในการหารายได้ ยิ่งเวลาผ่านมาเกือบปีแล้ว ยิ่งพิสูจน์ฝีมือของรัฐบาลเศรษฐา ได้เป็นอย่างดีว่าไม่สามารถทำให้พี่น้องประชาชนมีกินมีใช้ มีเกียรติมีศักดิ์ศรีไปพร้อมกันได้ตามคำโฆษณา เพื่อหาเสียงเลย 

นายร่มธรรม กล่าวต่อว่า ด้วยการที่รัฐบาลเศรษฐามีบาดแผลฝังลึก จึงหวั่นไหวกับคำว่าตระบัดสัตย์ค่อนข้างมาก ทำให้ต้องพยายามทุกทางเพื่อให้นโยบายดิจิทัล วอลเล็ตเดินหน้าได้ อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าตอนพรรคเพื่อไทยเสนอนโยบายนี้ในการหาเสียงกับประชาชนน่าจะยังคิดไม่เสร็จ ทำให้แนวทางเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอด ที่สำคัญคือตอบไม่ได้ว่าจะเอาเงินจากไหนมาทำโครงการ แต่ตอนนั้นปฏิเสธเสียงแข็งทุกเวทีว่าไม่กู้แน่นอน อย่างไรก็ตาม หลังจากได้เห็นหน้าตาคร่าวๆ ของงบประมาณปี 68 แล้ว ต้องบอกว่าเป็นมหกรรมการกู้ครั้งใหญ่ เพื่อเอามาทำโครงการนี้ ภายใต้คำว่าการตั้งงบแบบขาดดุล ซึ่งตนเชื่อว่าจะพัฒนากลายเป็นพายุหนี้ ที่ส่งผลกระทบต่อไประยะยาวอย่างแน่นอน

“งบประมาณปี 68 เป็นงบแห่งการกู้หนี้ยืมสิน เพื่อเอามาแจกแบบพิสดาร โดยปลายทางของเส้นเงินแสนล้านจะแบ่งกันไปกระจุกอยู่ในกระเป๋าเจ้าสัวไม่กี่คน ส่วนกระเป๋าตังค์ของรัฐน่าจะฉีก เพราะเป็นการเสนอตั้งงบประมาณแบบขาดดุลวงเงิน 3,752,700 ล้านบาท โดยปี 68 รัฐบาลคาดว่าจะมีรายได้สุทธิ จำนวน 2,887,000 ล้านบาท ส่งผลให้งบ 68 มีการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 865,700 ล้านบาทที่ต้องขอกู้เพิ่ม เมื่อนำมาบวกกับวงเงินที่เพิ่งขอกู้เดิมปี 67 จำนวน 693,000 ล้านบาท ก็จะเกือบเต็มกรอบวงเงิน ตามเงื่อนไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 ที่กำหนดไว  865,740 ล้านบาท การกู้เต็มเพดานขนาดนี้ถือว่ามีความเสี่ยงสูงมากหากมีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงจะเป็นภาระผูกพันจากดอกเบี้ยที่ต้องตั้งงบปีถัดๆ ไปมาจ่าย ทำให้การจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาหรือลงทุนใหม่ๆ มีข้อจำกัดมากขึ้น เสมือนเป็นการเบียดบังโครงการอื่นๆเพื่อมาตอบสนองเพียงมาตรการเดียว ทำให้ไม่สามารถพัฒนาหลายๆ มิติไปพร้อมกันได้ 

“นอกจากนี้ ผมมีข้อสังเกตว่า มีการตั้งหัวข้อใหม่ผุดขึ้นในงบกลางที่ไม่เคยมีในงบกลางปี 67 คือ ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ วงเงิน 152,700 ล้านบาท คาดว่า งบก้อนนี้น่าจะเพื่อรองรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเช่นกัน และเมื่อไปดูรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ในปีงบ 68 กลับไม่ได้ตั้งไว้เลย เมื่อเทียบกับปีงบ 67 จะเห็นว่าเคยตั้งไว้ 118,361.1 ล้านบาท เช่นเดียวกับรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองก็ไม่มีการจัดตั้งงบประมาณไว้เลยเช่นกัน” 

นายร่มธรรม กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลนี้พบว่า การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีงบ 67 ถึง 24.9% และคิดเป็นสัดส่วน 4.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขณะที่ ปี 67 มีสัดส่วน 3.7% ของ GDP โดยก่อนหน้าที่มีคำเตือนจากทั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่ารัฐบาลควรลดขนาดการขาดดุลงบประมาณและกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการเพิ่มรายได้และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกรวมถึงสถานการณ์ฉุกเฉินในระยะข้างหน้า เนื่องจากต้องยอมรับว่าขณะนี้มีความตึงเครียดในสถานการณ์โลกค่อนข้างสูง ส่งผลต่อต้นทุนหลายอย่าง เช่น พลังงานและอื่นๆ รวมถึงปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแรงกดดันต่อไทยสูง อาจส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะกลางและระยะยาวได้ 

“งบ 68 คือการก่อตัวของพายุหนี้ลูกใหญ่ ในขณะที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะซึมต่อเนื่องมายาวนาน ผมจึงเห็นด้วยกับมาตรการเติมเงินเข้าไปในมือประชาชนเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจ เติมเงินไปถึงมือประชาชนนั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ โครงการสวัสดิการแห่งรัฐต่างๆ การเพิ่มเบี้ยเด็กแรกเกิดและคนชรา รวมถึงการประกันรายได้ให้เกษตรในพืชบางชนิด เช่น ปาล์ม ข้าว ข้าวโพด มัน ในแบบที่พรรคประชาธิปัตย์เคยทำ เป็นการเติมเงินเข้าไปในระบบ เพื่อให้เกิดรายได้จากงานที่ทำ ไม่จำเป็นต้องทำให้ซับซ้อนหรือมุ่งเป้าเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอย่างเดียว 

ซึ่งไปทำให้การจัดสรรงบประมาณรวน และสะท้อนว่าไม่ได้เป็นการจัดสรรตามลำดับความสำคัญที่สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ แค่ต้องการให้เกิดเพราะกลัวเสียหน้าเท่านั้น ปัญหาในการจัดงบประมาณครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ผมจึงอยากให้พี่น้องประชาชนช่วยกันติดตามการอภิปรายงบ 68 ที่กำลังจะมีขึ้นกลางเดือนนี้อย่างใกล้ชิด” นายร่มธรรม ระบุ

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส