รวมพลัง สร้างคนไทยไร้โกง

10 มิ.ย. 67

ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน และเหมือนจะไม่มีทางแก้ไขได้ เพราะเกี่ยวข้องกับคนในหลายภาคส่วน ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ เข้าไปยุ่งก็อาจจะเป็นอันตราย ทำให้หลายๆ คนเลือกเพิกเฉย และไม่ลงมือทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ตาม แม้หลายคนจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว และมองข้ามได้ แท้จริงแล้วปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบใกล้ตัวกว่าที่คิด ทั้งเรื่องความปลอดภัยในการใช้ชีวิต และผลกระทบทางอ้อมที่เกิดจากต้นทุนในการใช้ชีวิตที่เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น ทำให้ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ไข และไม่สามารถแก้ได้ด้วยคนในหน่วยงานที่มีหน้าที่ปราบปรามทุจริตเพียงอย่างเดียว

01

ในบทความนี้ SPOTLIGHT ชวนทุกคนมาสืบสาวหาต้นตอปัญหาการทุจริตจ่ายส่วยในประเทศว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ส่งผลกระทบอย่างไรต่อประเทศชาติ และในฐานะประชาชน เราสามารถทำอย่างไรได้บ้างเพื่อแก้ไขปัญหานี้

โดยในครั้งนี้ SPOTLIGHT ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญถึง 3 ท่าน ได้แก่ นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโส นโยบายด้านการกำกับดูแลที่ดี สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย และ นายศิริชัย ศรีเจริญศิลป์ นายกสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การทุจริตในประเทศไทย รวมไปถึงวิธีแก้ไขปัญหาเพื่อป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นจากการทุจริต ในงาน SPOTLIGHT Anti Corruption Forum รวมพลังสร้างคนไทยไร้โกงในวันที่ 17 พ.ค. 2567 ณ True 5G Pro Hub สยามดิสคัฟเวอรี่

02

ทำไมปัญหาการทุจริตจึงไม่หายไปจากสังคมไทย?

นายธิปไตร ให้เหตุผลที่การทุจริตและการจ่ายสินบนยังมีอยู่ในสังคมไทยว่า ในปัจจุบัน ต้นทุนในการจ่ายสินบนยังน้อยกว่าการทำตามกฎหมาย เพราะทั้งในด้านการทำธุรกิจที่ผู้ประกอบการอาจต้องเจอกฎระเบียบที่ยุ่งยาก ทำให้การจ่ายเงินเพื่อเร่งการดำเนินการมีประสิทธิภาพมากกว่า รวมถึงการทุจริตเล็กๆ น้อยๆ เช่นการจ่ายค่าปรับ ที่คนมักจะยอมจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะไม่อยากไปโรงพักเพื่อดำเนินงานตามกฎหมาย

นอกจากนี้ ประโยชน์จากการจ่ายสินบนยังมากกว่าประโยชน์จากการปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งในการซื้อคดีที่เมื่อจ่ายสินบนแล้วทุกอย่างจะจบ การซื้อเวลาและความสะดวกเมื่อกฎระเบียบสร้างความยุ่งยากมากเกินไป และการซื้อความได้เปรียบทางธุรกิจ เช่น ในงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

การยอมจ่ายสินบนเพื่อซื้อความสะดวกเห็นได้ชัดในการวงการธุรกิจขนส่ง และวงการอสังหาริมทรัพย์ เพราะธุรกิจเหล่านี้มีกฎระเบียบควบคุมมาก และการจ่ายสินบนเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ทำตามกฎต่างๆ นั้นทำให้การทำธุรกิจได้ผลกำไรมากกว่า และดำเนินการได้รวดเร็วมากกว่า

การทุจริตในภาคการขนส่งและอสังหาฯ ทำอย่างไรได้บ้าง?

ในธุรกิจขนส่งสินค้า ปัญหาทุจริตที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการจ่ายส่วยสติกเกอร์ แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้รถบรรทุกน้ำหนักสินค้าได้มากขึ้นในแค่ละรอบ ทำให้ต้องขนส่งน้อยรอบลง และทำกำไรได้มากขึ้น ซึ่งทำให้ถนนและสะพานทรุด เป็นหลุมเป็นบ่อ เกิดอันตรายต่อผู้สัญจร และทำให้รัฐต้องเสียเงินงบประมาณในการซ่อมแซมสูง

นายศิริชัย ในฐานะผู้ประกอบการกล่าวว่า ปัญหาจ่ายส่วยให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจนี้เป็นปัญหาที่มีมานาน จนกลายเป็นธรรมเนียม และวิถีปฏิบัติที่ผู้เกี่ยวข้องอาจมองว่าไม่ใช่เรื่องผิดไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีการทุจริตแบบใหม่ๆ ที่ทำให้หลีกเลี่ยงการจับกุมได้ คือการทำรายชื่อผู้จ่ายส่วนทางดิจิทัล ไม่ต้องติดสติกเกอร์อีกต่อไป ทำให้จับสังเกตยากกว่าเดิม

ในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์ ดร.โสภณ เผยว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยมีการจ่ายสินบนประมาณ 5% ของมูลค่าการซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด ส่วนมากเป็นไปเพื่อเร่งกระบวนการดำเนินการ การขออนุญาตต่างๆ ตั้งแต่ใบอนุญาตใหญ่ๆ อย่างการขอใบอนุญาตทำหมู่บ้านจัดสรร การใช้พื้นที่ ไปจนถึงการขอสาธารณูปโภคเข้าไปในที่พักอาศัย การขอป้ายติดบ้านเลขที่

นอกจากนี้ การจ่ายสินบนใต้โต๊ะยังในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะปัจจุบันรัฐบาลมีการสนับสนุนให้มีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยมากขึ้น รวมไปถึงมีการออกมาตรการดึงให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อที่พักอาศัยในไทยในปัจจุบัน ทำให้เกิดการทุจริตในรูปแบบอื่นๆ เช่น การรับเป็นนอมินี หรือตั้งบริษัทนอมินีให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยได้อีก

ทั้งนี้ นอกจากการทุจริตกับหน่วยงานรัฐแล้ว ดร.โสภณ กลาวว่า ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังมีการจ่ายสินบนให้กับสถาบันการเงินด้วย เช่นการที่นักลงทุนจ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน ขอกู้เงินจำนวนมากเพื่อไปซื้อที่อยู่อาศัยไปเก็งกำไร

การทุจริตส่งผลเสียอย่างไร? ทำไมใกล้ตัวเรากว่าที่คิด?

ปัจจุบัน เป็นที่รู้กันดีว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ และส่งผลกระทบต่อรายได้ของภาครัฐ เพราะทำให้เก็บภาษีได้น้อยลง ทำให้ภาครัฐได้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ และทำให้สิ้นเปลืองภาษีในการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดจากการรับงานจากผู้รับงานที่ไม่มีคุณภาพเหล่านั้น
ทั้งนี้ นอกจากภาครัฐแล้ว ประชาชนทุกคนก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กันจากการปล่อยให้มีการทุจริต ซึ่งเป็นผลเสียทั้งต่อคุณภาพชีวิต และทรัพย์สิน โดยจากความเห็นของ นาย ธิปไตร ผลกระทบจากการทุจริตต่อประชาชนที่เห็นได้ชัด 5 ข้อ คือ

1.ความไม่เป็นธรรมในการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพ นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ เช่น การที่โรงเรียนรับเงินสนับสนุนหรือค่าแป๊ะเจี๊ยะเพื่อรับนักเรียนที่อาจไม่มีความสามารถแต่ทางบ้านมีเงิน แทนที่จะรับนักเรียนที่มีความสามารถจริงๆ หรือการใช้เส้นสาย หรือเปิดให้มีการใช้เงินซื้อตำแหน่งได้ ทำให้หน่วยงานต่างๆ ไม่ได้รับผู้มีความรู้ความสามารถจริงๆ เข้าไปทำงาน ซึ่งทำให้ผลการดำเนินงานออกมาไม่ดีเท่าที่ควร

2.การเกิดต้นทุนที่ไม่จำเป็นในการทำธุรกิจ ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระจ่ายค่าสินค้าสูงเกินความจำเป็น เห็นได้ชัดจากการจ่ายสินบนเพื่อเร่งกระบวนการในภาคอสังหาฯ ที่ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น เพราะผู้ประกอบการผลักภาระต้นทุนการจ่ายสินบนให้ลูกค้า

3.การทำให้รัฐเสียประมาณ ประชาชนเสียโอกาส เช่น การที่การจ่ายส่วยสติกเกอร์ทำให้มีการบรรทุกน้ำหนักเกิน ถนนเสียหาย ทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณในการซ่อมแซมถนนมากขึ้น และทำให้ประชาชนเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจากการใช้ถนนที่เสียหาย รวมไปถึงการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างที่ทำให้การสร้างสาธารณูโภคพื้นฐาน เช่น ถนน โรงพยาบาล และโรงเรียน สร้างได้ช้าหรือเสียหายเร็วกว่ากำหนด ทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์

4.การทำให้ธุรกิจไทยเสียโอกาสในการแข่งขัน เพราะการทุจริตทำให้ธุรกิจไทยเน้นใช้เงินในการแก้ไขปัญหา ไม่มุ่งสร้างนวัตกรรมหรือคิดค้นการทำธุรกิจใหม่ๆ ที่ทำให้การทำธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้นทุนลดลง ทำให้ธุรกิจไทยไม่มีศักยภาพในการแข่งขันกับธุรกิจต่างประเทศที่เน้นสร้างนวัตกรรมมากกว่า

5.การเกิดอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การฟอกเงินที่ต้องมีการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ก่อให้เกิดธุรกิจใต้ดิน ธุรกิจหลอกเอาเงินประชาชน ซึ่งเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั้งประเทศ

ประชาชนทำอย่างไรได้บ้างเพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น?

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ปัจจุบันการแก้ปัญหาการทุจริตอาศัยเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานป้องกันปราบปรามไม่ได้เท่านั้น เพราะมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ทำให้การตรวจสอบแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง ทำให้ต้องอาศัยสายตาประชาชนในการสอดส่องดูแลและรายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยในปัจจุบัน ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสในช่องทางออนไลน์ได้ ไม่ต้องไปยื่นหนังสือกับหน่วยงานปปช. โดยตรง ทำให้การแจ้งเบาะแสสามารถทำได้ง่าย และที่สำคัญคือ ไม่ต้องกลัวว่าแจ้งแล้วจะถูกคุกคามโดยผู้มีอิทธิพล เพราะตามกฎหมายรัฐบาลต้องให้ความคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส รวมไปถึงญาติพี่น้องและคนโดยรอบด้วย

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน ยังให้แนวคิดด้วยว่า ระบบรับเรื่องร้องเรียน ติดตาม และรายงานผลร้องเรียนของหน่วยงานต่างๆ ก็ต้องปลอดภัยด้วย เพราะหากยุ่งยาก ประชาชนก็ไม่อยากจะร้องเรียน และเสี่ยงเดือดร้อน หรือถูกคุกคามโดยผู้มีอิทธิพล และหน่วยงานต้องเชื่อถือได้ รักษาความปลอดภัยให้ผู้ร้องเรียน ไม่เปิดเผยข้อมูลแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

นอกจากนี้ ยังต้องมีการแก้ไขกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ ทำให้การทำธุรกิจเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ไม่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเลือกจ่ายสินบนเพื่อความสะดวก ซึ่งจะเป็นการแก้ที่รากของการทุจริตในไทย ที่คนมักจะเลือกจ่ายสินบน เพราะทำให้การทำธุรกิจสะดวกและรวดเร็วมากกว่า

03

Session 2 : รวมพลัง สร้างคนไทยไร้โกง ภาคธุรกิจ
มีปัญหาการจ่ายเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

จากข้อมูลดัชนี CPI (Corruption Perceptions Index CPI) ปี 2566 ที่ชี้ว่าปัญหาคอร์รัปชันในไทยยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะการจ่ายสินบนเพื่อแลกผลประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์ส่วนตนนั้น เราลองมาวิเคราะห์สถานการณ์กันครับ ตลอด 24 ปีที่ผ่านมา คะแนน CPI ของไทยไม่เคยเกิน 38 คะแนน และอันดับโลกก็มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ หากปล่อยไว้เช่นนี้ ผลเสียจะตามมามากมาย ทั้งความขัดแย้ง ความไม่เป็นธรรม และสังคมที่ขาดความไว้วางใจกัน

ที่ผ่านมา คะแนน CPI เคยดีขึ้นบ้างหลังการปฏิวัติและการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆ ก่อนจะกลับสู่สภาพเดิม หรือแย่กว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ แม้แต่ในยุค คสช. ที่คะแนน CPI ดีขึ้น ก็อยู่ได้ไม่นานก็ตกต่ำลงอีก ถึงแม้จะมีกฎหมายและมาตรการต่างๆ มากมาย แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้ผล เพราะขาดการส่งเสริมให้ประชาชนใช้งานและขาดการประชาสัมพันธ์อย่างจริงจัง งานวิจัยพบว่ากว่า 60% ของการจ่ายสินบนนั้น ผู้จ่ายเป็นฝ่ายเสนอเอง และรู้ด้วยว่าต้องจ่ายเท่าไหร่ ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกในสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม ยังพอมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อยู่บ้าง เมื่อคนรุ่นใหม่และภาคธุรกิจเริ่มตื่นตัวและให้ความสำคัญกับความโปร่งใสมากขึ้น รวมถึงความพยายามของหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งในการแก้ไขปัญหา แม้จะยังไม่เห็นผลชัดเจนนักก็ตาม เราหวังว่าความพยายามเหล่านี้ จะช่วยให้สังคมไทยโปร่งใสขึ้น และปัญหาคอร์รัปชันลดลงในอนาคต

04

การคอร์รัปชั่น ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้การคอร์รัปชั่นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่คิด เมื่อพูดถึงคำว่า "คอร์รัปชั่น" หลายคนอาจจะนึกถึงแค่การโกงกินเงินหลวง แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างเช่น

กรณีเนื้อวัวปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง: ทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายต่อสุขภาพ และส่งผลกระทบต่อการส่งออกเนื้อวัวไปยังต่างประเทศ สาเหตุสำคัญมาจากการลักลอบนำเข้าสารเร่งเนื้อแดงและการละเลยการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่รัฐ

โครงการโค: เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการได้รับความเดือดร้อนจากการที่โคที่ได้รับมามีน้ำหนักต่ำกว่าที่ระบุไว้ และยังมีโรคระบาดอีกด้วย โครงการนี้เป็นตัวอย่างของการทุจริตที่สร้างความเสียหายต่อทั้งเกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศ

บุหรี่เถื่อน: ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษี เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบและร้านค้าได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ บุหรี่เถื่อนยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน

การออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินโดยมิชอบ: ทำให้เกิดการบุกรุกป่าไม้ แหล่งน้ำ และที่ดินของประชาชน สร้างความขัดแย้งในสังคมและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ปัญหากากแคดเมียม: แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการกำกับดูแลและควบคุม กากแร่แคดเมียม ที่จัดอยู่ในกลุ่มวัตถุอันตราย ส่งผลกระทบและลดความเชื่อมั่นของประชนชน

ปัญหาคอร์รัปชันเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในวงกว้าง ทำให้ประเทศไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ ขาดความน่าเชื่อถือจากนักลงทุนต่างชาติ และประชาชนขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาล ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องตระหนักถึงผลกระทบของคอร์รัปชันและร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและยั่งยืน

สุดท้ายนี้ ภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูล เพราะวันนี้ปัญหาใหญ่ของประเทศ คือ หน่วยงานของรัฐ มีอะไรก็อุ๊บอิ๊บ กันไว้ ซื้อเรือดำน้ำก็อุ๊บอิ๊บ ทุกอย่างมันเป็นความลับไปหมด เพราะฉะนั้น วันนี้เราและภาคเอกชน จะต้องรวมมือกัน เอาข้อมูลของภาครัฐมาเปิดเผยให้แก่ประชาชนคนในประเทศ

ไม่มีใครอยากจ่ายสินบนเพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

ในมุมมองของนักธุรกิจ ไม่มีใครอยากจ่ายสินบนเพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ เพราะความสำเร็จที่ได้มาไม่ยั่งยืนและไม่สามารถการันตีได้ว่าเกิดจากความสามารถที่แท้จริงของบริษัท ในฐานะเจ้าของกิจการและผู้บริหาร สิ่งสำคัญคือการสร้างความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริงให้กับบริษัท เช่น การพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพและราคาที่แข่งขันได้ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าและคู่ค้า การลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยี การใช้วิธีการคดโกงหรือจ่ายสินบนอาจทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ในระยะสั้น แต่ไม่สามารถสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจในระยะยาวได้ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่จะถูกตรวจสอบและดำเนินคดี ซึ่งจะส่งผลเสียต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของบริษัท

อย่างไรก็ตาม ในบางสถานการณ์ การสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานราชการหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอาจเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ต้องแยกให้ออกระหว่างการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับการจ่ายสินบน ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ทัศนคติและวิธีคิดของผู้บริหารมีผลอย่างมากต่อวัฒนธรรมองค์กร หากผู้บริหารให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง ก็จะส่งผลให้พนักงานทุกคนในองค์กรยึดมั่นในค่านิยมเดียวกัน
สำหรับสถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศไทย คะแนน CPI ที่ต่ำสะท้อนให้เห็นว่ายังมีปัญหาการคอร์รัปชันอยู่มาก โดยเฉพาะในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่มีกฎระเบียบที่เข้มงวดและต้องมีปฏิสัมพันธ์กับหน่วยงานราชการบ่อยครั้ง อย่างไรก็ตาม ธุรกิจบางประเภทก็มีกฎระเบียบที่ผ่อนคลายกว่า ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการคอร์รัปชันน้อยกว่า ดังนั้น การเปรียบเทียบสถานการณ์คอร์รัปชันในแต่ละธุรกิจหรืออุตสาหกรรมจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย แม้ว่าคะแนน CPI ของไทยจะยังไม่ดีนัก แต่ก็ยังมีความหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นได้ หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

คอร์รัปชั่น ในมุมมองของนักลงทุน

เปรียบเทียบการทำธุรกิจให้เหมือนกับการแข่งขัน นี้ก็เหมือนกับการแข่งขันทางธุรกิจ แต่ถ้าการแข่งขันนี้มี "ลูกเล่น(คอร์รัปชั่น)" ล่ะ? สมมติว่ามีกฎว่าใครเดินถึงเส้นชัยก่อนชนะ แต่ไม่มีใครตรวจสอบว่าเราไปถึงด้วยวิธีไหน แล้วถ้าคู่แข่งแอบขึ้นวินมอเตอร์ไซค์ล่ะ? เราซึ่งไม่รู้จักวินมอเตอร์ไซค์เลย จะรู้สึกอย่างไรคะ? คงรู้สึกว่าการแข่งขันนี้ไม่ยุติธรรม และเสียเปรียบคู่แข่ง นักลงทุนก็คิดแบบเดียวกันค่ะ ถ้าการแข่งขันไม่โปร่งใส ก็คงไม่มีใครอยากเข้าร่วม หรือถ้าเข้าร่วมก็อาจจะเรียกผลตอบแทนที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยง หรืออาจจะต้องหา "ตัวช่วย" มาอยู่ในทีม เช่น คนที่รู้จักวินมอเตอร์ไซค์

แต่ถ้าเรามั่นใจว่าการแข่งขันนี้โปร่งใส มีกล้องวงจรปิดจับภาพตลอดเวลา ไม่มีใครโกงได้ เราก็จะกล้าที่จะแข่งขันอย่างเต็มที่ เพราะเรารู้ว่าทุกคนอยู่ภายใต้กฎเดียวกัน ในโลกธุรกิจก็เช่นกัน ถ้าเราไม่สามารถสร้างความโปร่งใสได้ นักลงทุนก็อาจจะไม่กล้าเข้ามาลงทุน หรือถ้าเข้ามาลงทุนก็อาจจะเรียกผลตอบแทนที่สูงขึ้น หรืออาจจะต้องหา "ตัวช่วย" มาอยู่ในทีม หาคนที่ คอร์รัปชั่น วงจรอุบาทว์ นี้คงไม่มีวันสิ้นสุด

ทีนี้มาถึงเรื่องผู้นำกันบ้าง ผู้นำมีบทบาทสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่โปร่งใส เราสามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้ เพื่อให้ทุกอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่ที่สำคัญกว่าเทคโนโลยี คือการสร้างจิตสำนึกให้กับคนในองค์กรค่ะ ผู้นำต้องเป็นแบบอย่างที่ดี สร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมความซื่อสัตย์และโปร่งใส ถ้าเราทำได้แบบนี้ องค์กรของเราก็จะน่าเชื่อถือและน่าลงทุนมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จระยะยาวต้องอาศัยความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริง ไม่ใช่การใช้เล่ห์เหลี่ยมหรือวิธีคดโกง ได้ความสำเร็จได้ระยะสั้น แต่ไม่ยั่งยืนและไม่สามารถบอกได้ว่าบริษัทมีความสามารถในการแข่งขันจริงหรือไม่ การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งสำคัญ แต่ต้องไม่ใช่การทุจริต

ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นเหมือนมะเร็งร้ายที่กัดกินสังคมไทยมานาน ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน แม้หลายคนจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันส่งผลกระทบต่อเราทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะมันฝังรากลึกอยู่ในระบบและวัฒนธรรมของเรา แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ หากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ต้องร่วมมือกันสร้างความตระหนักรู้ สร้างระบบตรวจสอบที่โปร่งใส และลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง

ในโลกธุรกิจ การแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมเป็นสิ่งสำคัญ หากเราปล่อยให้การคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติ ก็จะไม่มีใครอยากเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และธุรกิจไทยก็จะเสียโอกาสในการเติบโต

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เพื่อสร้างสังคมที่โปร่งใสและเป็นธรรมให้กับลูกหลานของเราในอนาคต การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นไม่ใช่แค่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของเราทุกคน

"เราทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่โปร่งใสและเป็นธรรมได้ เริ่มต้นจากตัวเราเอง วันนี้ เพื่ออนาคตที่ดีกว่า"

 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม