มติ ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับคำร้อง 4 ปม เพื่อไทย-เศรษฐา ล้มการปกครอง

29 พ.ค. 67

 

มติ ศาลรัฐธรรมนูญเอกฉันท์! ไม่รับคำร้อง 4 ปม เพื่อไทย-เศรษฐา ล้มล้างการปกครอง ยิมยอมให้ ทักษิณ ชี้นำกิจกรรมพรรค 

วันที่ 29 พ.ค. 67 ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ เรื่องพิจารณาที่ 15/2567 คำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กรณีนายคงเดชา ชัยรัตน์ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของพรรคเพื่อไทย (ผู้ถูกร้องที่ 1) ที่นำนโยบายแจก เงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท มาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำให้คะแนนเสียงเลือกตั้งไม่ได้มาจากเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชน เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 

และการมีพฤติการณ์ยินยอมให้นาย ทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูกร้องที่ 4) ชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมือง ทำให้การใช้เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองไม่เป็นไปตามกฎหมาย การกระทำของคณะรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่นำนโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาทมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่ขี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 

การกระทำของนาย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 3)ในการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่ให้ข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องครบถ้วนแก่ประชาชน กระทำการเป็นสื่อมวลชนประเภทสื่อออนไลน์ อันเป็นลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี และมีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการแต่งตั้งบุคคลที่ขาดคุณสมบัติเพื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี  เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม และการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 4 ที่อาจเป็นการชี้นำกิจกรรมของผู้ถูกร้องที่ 1 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพทางการเมืองเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง 

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติมและเอกสารประกอบ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอ และยังไกลเกินกว่าเหตุที่แสดงให้เห็นได้ว่าผู้ถูกร้องทั้งสี่กระทำการใด ๆ  ที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง คำร้องเป็นเพียงการแสดงความเห็นต่างของผู้ร้องเท่านั้น 

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส