ปภ.แจ้ง 26 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำไหลหลาก ในช่วงวันที่ 18 – 25 พ.ค. 67
16 พ.ค. 67 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 26 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก ในช่วงวันที่ 18 - 25 พ.ค. 67 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักหรือบริเวณฝนสะสม ซึ่งส่งผลให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) และนำเครื่องมือเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำจุดเสี่ยงอันตรายและพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนทันที
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มีประกาศฉบับที่ 3/2567 เรื่องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก แจ้งว่า หย่อมความกดอากาศกำลังแรงก่อตัวในทะเลอันดามัน ส่งผลให้ลมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ มีฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก ในช่วงวันที่ 18 – 25 พฤษภาคม 2567 แยกเป็น
ภาคเหนือ 11 จังหวัด
แม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอแม่สะเรียง อำเภอสบเมย) เชียงใหม่ (อำเภอฝาง อำเภออมก๋อย อำเภอจอมทอง) ลำพูน (อำเภอเมืองลำพูน) ลำปาง (อำเภอเกาะคา อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก) แพร่ (อำเภอวังชิ้น) น่าน (อำเภอปัว อำเภอบ่อเกลือ อำเภอเชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง อำเภอท่าวังผา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอสองแคว) อุตรดิตถ์ (อำเภอตรอน) ตาก (อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่ระมาด) สุโขทัย (อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอศรีสัชนาลัย) พิษณุโลก (อำเภอนครไทย อำเภอเนินมะปราง) และเพชรบูรณ์ (อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอเขาค้อ)
ภาคกลาง 4 จังหวัด
ชลบุรี (อำเภอเมืองชลบุรี อำเภอศรีราชา) ระยอง (อำภอเมืองระยอง) จันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอมะขาม อำเภอขลุง อำเภอโป่งน้ำร้อน) และตราด (อำเภอเมืองตราด อำเภอเขาสมิง อำเภอบ่อไร่)
ภาคใต้ 11 จังหวัด
ชุมพร (อำเภอท่าแซะ อำเภอพะโต๊ะ) สุราษฎร์ธานี (อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี อำเภอพนม อำเภอบ้านตาขุน อำเภอเกาะพะงัน) นครศรีธรรมราช (อำเภอช้างกลาง อำเภอพิปูน อำเภอฉวาง อำเภอทุ่งใหญ่ อำเภอถ้ำพรรณรา) พัทลุง (อำเภอป่าบอน อำเภอตะโหมด) สงขลา (อำเภอสะเดา) ระนอง (อำเภอเมืองระนอง อำเภอกะเปอร์ อำเภอ ละอุ่น อำเภอสุขสำราญ อำเภอกระบุรี) พังงา (อำเภอเมืองพังงา อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอกะปง อำเภอท้ายเหมือง) ภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต อำเภอกะทู้ อำเภอถลาง) กระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเขาพนม อำเภออ่าวลึก อำเภอคลองท่อม อำเภอปลายพระยา อำเภอเกาะลันตา) ตรัง (อำเภอเมืองตรัง อำเภอปะเหลียน อำเภอนาโยง อำเภอกันตัง อำเภอห้วยยอด อำเภอหาดสำราญ อำเภอรัษฎา อำเภอวังวิเศษ) และสตูล (อำเภอเมืองสตูล อำเภอควนโดน อำเภอควนกาหลง อำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง)
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 26 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด ตลอดจนเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักหรือบริเวณฝนสะสม ซึ่งส่งผลให้เกิดอุทกภัยได้ และพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำ รวมถึงประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) และนำเครื่องมือเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำจุดเสี่ยงอันตรายและพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนทันที ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ขอให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด