ย้อนตำนาน บุ้ง ทะลุวัง จากแนวร่วม กปปส.สู่แกนนำทะลุวัง

14 พ.ค. 67

ย้อนตำนาน บุ้ง ทะลุวัง จากแนวร่วม กปปส. สู่แกนนำทะลุวัง เปิดตำนาน 110 วันอดอาหารจนเสียชีวิต

 

ช็อกกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง หลังจากน.ส.เนติพร หรือบุ้ง ทะลุวัง ผู้ต้องขังคดีทางการเมือง หัวใจหยุดเต้นระหว่างถูกคุมขัง เมื่อเวลา 06.00 น. (วันนี้) ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะนำตัวมารักษาที่โรงพยาบาลราชฑัณฑ์ กระทั่งมีรายงานการเสียชีวิต เมื่อเวลา 11.22 น.วันเดียวกัน

สำหรับ บุ้ง ทะลุวัง ถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2567 หลังถูกศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงโทษจำคุก 1 เดือน กรณีละเมิดอำนาจศาล และถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ซึ่งถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567

845840_0

จากนั้น บุ้ง ทะลุวัง ประกาศเจตนารมณ์อดอาหารและอดน้ำประท้วง เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2567 เวลา 18.00 น. จนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 รวมระยะเวลา  110 วัน

 

ขณะเดียวกัน บุ้ง ทะลุวัง ยังเคยประกาศผ่านเพจกลุ่มทะลุวัง เพื่อบริจาคร่างกายเป็นสาธารณะประโยชน์ โดยใจความฉบับเต็มระบุว่า

“ในการอุทิศร่างกายดังกล่าว ข้าพเจ้าขอความกรุณาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุณารับร่างของข้าพเจ้าไว้ แม้จะไม่สามารถเดินทางมาติดต่อกรอกข้อมูลและยื่นเอกสารด้วยตนเองได้ ด้วยเหตุผส่วนตนและเหตุผลจากการที่ถูกคุมขังอยู่ภายใต้การควบคุมของราชทัณฑ์

00_a5b2785397c2e1024

ทั้งนี้ หากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะทำการรับร่างของข้าพเจ้าไว้ ก็จักเป็นการขอบพระคุณยิ่ง และต้องขออภัยหากหนังสือแสดงเจตนาของข้าพเจ้าได้สร้างความเดือดร้อนให้กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยประการใด

ขอแสดงความนับถือเป็นอย่างสูง ในกิจการที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้ยืนหยัดช่วยเหลือประชาชนตลอดมา

คุณความดีใดที่ได้จากการอุทิศร่างกายในครั้งนี้ ขอส่งให้กับประชาชนที่ยากลำบากทุกคนและขอให้ไม่มีความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยอีกต่อไป”

นอกจากนั้น บุ้ง ทะลุวัง ได้ทำพินัยกรรม ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ระบุเจตนารมณ์ในการจัดการทรัพย์สิน หากเสียชีวิต ขอแสดงเจตจำนงยกกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินให้แก้ผู้อื่น ประกอบด้วย  ทรัพย์สินที่เป็นเงินสด และในบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง รวมทั้งนาฬิกาข้อมือ ต่างหู และสัตว์เลี้ยง ขอให้น้องหยก (หยก ธนลภย์ อดีตนักกิจกรรมทางการเมืองที่เคยอยู่ในความดูแลของบุ้ง ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว สำหรับทรัพย์สินอื่นๆ อันรวมถึงที่ดิน สิทธิเรียกร้อง และสิทธิตามมรดกที่มีอยู่ก่อนจะถึงแก่ความตาย ขอยกให้พี่สาวแต่เพียงผู้เดียว

อย่างไรก็ตาม เพื่อนที่ทราบข่าวการเสียชีวิต ต่างเดินทางมาไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้าย ที่หน้าห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ศูนย์รังสิต กันอย่างเนืองแน่น ระหว่างนำร่างมาชันสูตร

ทั้งนี้ ก่อนที่ “บุ้ง ทะลุวัง” จะเสียชีวิต มีกระแสข่าวความขัดแย้งของกลุ่มขึ้น โดยเฉพาะกับตัว “หยก” หรือนางสาวธนลภย์ ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ประกาศยุติการเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง พร้อมอ้างว่าได้กลับไปอยู่กับที่บ้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังคงสนับสนุนวงการดนตรี และระบบการศึกษานอกระบบ (กศน.) เหมือนเดิม หลังจากอยู่ในการอุปการะของบุ้งมาหลายปี ทำให้สังคมกังขาว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะบุ้งกับหยกถือว่าสนิทกันมาก

สำหรับประวัติของ บุ้ง ทะลุวัง เกิดมาในครอบครัวผู้พิพากษา พี่สาวมีอาชีพทนายความ บุ้งจบปริญญาตรีสาขาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จุดเริ่มต้นความสนใจทางการเมือง เธอเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส.ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำเพื่อขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนที่จะรู้สึกผิดต่อคนเสื้อแดง เมื่อได้ฟังข้อมูลจาก น.ส.พรรณิการ์ วานิช หรือ ช่อ ที่ได้เปิดเผยตัวเลข และรายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง ราชประสงค์ กระทั่งยอมเปลี่ยนขั้วทางการเมือง และเคลื่อนไหวในนามกลุ่มทะลุวังเรื่อยมา

จนมาถึงจุดจบของชีวิต หลังถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2567 กรณีถูกศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงโทษจำคุก 1 เดือน กรณีละเมิดอำนาจศาล และถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ซึ่งถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567

อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เธอประกาศอดอาหาร และขอปฏิเสธการรักษาที่ทำให้เธอต้องมีชีวิตอยู่ อาการแย่ลงตามลำดับ กระทั่งมาเสียชีวิต หรือจากโลกใบนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับ เหลือไว้แค่ตำนานการต่อสู้ในนามหญิงสาวที่ชื่อ “บุ้ง ทะลุวัง” เท่านั้น

 

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส