รปภ.โหด!ต่อยสาวแหม่มจนกระดูกแตกหน้าผิดรูป ฉุนถูกปลุกขณะนอนในเวลางาน

25 เม.ย. 67

สาวแหม่มร้องถูก รปภ.โหดต่อยสลบ กระดูกหน้าแตก ฉุนถูกปลุกขณะนอนในเวลางาน ซ้ำใช้หนังสือยืนยันจาก บช.น.ปลอม

 

หญิงผู้เสียหายชาวอังกฤษ อายุ 37 ปี พร้อมสามี เข้ายื่นหนังสือถึงพลตำรวจโทธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หลังเมื่อเดือนธันวาคมปี 2564 ถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของที่พักซึ่งเป็นอาคารชุดของตนเอง ทำร้ายร่างกาย แล้วมาทราบภายหลัง ว่ารปภ.คนดังกล่าว ไม่มีใบอนุญาต แต่ได้ปลอมใบอนุญาตเพื่อยื่นในชั้นศาล ซึ่งเอกสารดังกล่าวออกโดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล มีตราประทับกองบัญชาการตำรวจนครบาลและลายเซ็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองบัญชาการตำรวจนครบาลชัดเจน จึงมาร้องขอให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลตรวจสอบ ข้อเท็จจริงเรื่องการปลอมเอกสารของรปภ. คนดังกล่าว รวมถึงบริษัทรปภ.ต้นสังกัดย่านปิ่นเกล้าด้วย

โดยสามีของผู้เสียหายเล่าว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2564 ช่วงเวลาประมาณตี 3 ภรรยาของตนเองได้ลงจากที่พักเพื่อมาตามหาตนเองที่รถ และได้พบรปภ. ซึ่งที่พักว่าจ้างผ่านบริษัทรักษาความปลอดภัย กำลังนอนหลับในเวลางาน จึงเข้าไปปลุกและถามว่าเห็นสามีหรือไม่ รวมถึงขอตรวจสอบกล้องวงจรปิด

จากนั้นภรรยาของตนเองจึงเดินออกมา แต่รปภ.คนดังกล่าวยังคงเดินตามมา ก่อนจะฉวยจังหวะที่ภรรยาตนเองเผลอ ต่อยเข้าที่ใบหน้า 1 ครั้ง ทำให้ภรรยาของตนเองหงายหลังล้มลงได้รับบาดเจ็บ ใบหน้าฟกช้ำและกระดูกใบหน้าแตก ตนเองได้ยินเสียงภรรยาร้องจึงรีบมายังจุดเกิดเหตุและรีบอุ้มภรรยากลับขึ้นห้องพักทันที

หลังเกิดเหตุรปภ.คนดังกล่าวได้หลบหนีไป ส่วนภรรยาของตนเองซึ่งเดิมป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวกระทบกระเทือนจิตใจเป็นอย่างมาก ทำให้มีอาการหนักขึ้น เก็บตัวเองอยู่แต่ในห้องไม่ออกไปพบเจอผู้คนนานเป็นเวลา 2-3 เดือน ไม่กล้าไปแจ้งความหรือไปหาหมอ จนกระดูกใบหน้าที่แตกไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี เกิดการสมานกันอย่างสะเปะสะปะ จนใบหน้าผิดรูป ปวดตลอดเวลา ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต จนสุดท้ายหลังผ่านไปหลายเดือน ตนเองต้องวางยานอนหลับภรรยาและพาไปพบจิตแพทย์ พบว่าภรรยา ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง เป็นโรค PTSD และมีอาการวิตกกังวลรุนแรง ต้องพบจิตแพทย์ถึง 2 คน ส่วนใบหน้าที่ผิดรูปก็ต้องเข้ารับการศัลยกรรมหลายครั้ง และไม่กล้ากลับไปยังที่พักดังกล่าวทั้งๆ ที่ซื้อมามูลค่าหลายสิบล้าน

ต่อมาช่วงปี 2566 ได้ไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนสน.บางโพงพาง ตำรวจต้องสอบปากคำภรรยาของตนเองเพิ่มเติม ซึ่งภรรยาของตนเองยังอยู่ในอาการป่วย ไม่พร้อมจะให้ปากคำ จึงยังไม่ได้ไปให้การ แต่ตนเองก็ได้ยื่นฟ้องแพ่งต่อศาล ซึ่งศาลก็ได้ออกหมายจับรปภ.คนดังกล่าว แต่ยังไม่ได้มีการดำเนินการจับกุม ต่อมาตนเองได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานใบอนุญาตพนักงานรักษาความปลอดภัย ที่ฝ่ายรปภ.ยื่นเข้ามาเป็นเอกสารท้ายคำให้การ ตนเองจึงได้นำสำเนาใบอนุญาตดังกล่าว ไปยื่นขอตรวจสอบใบอนุญาตรปภ.คนดังกล่าว กับกองบัญชาการตำรวจนครบาลซึ่งเป็นหน่วยงานที่ออกใบอนุญาต แต่กลับไม่พบข้อมูลของรปภ.ดังกล่าวขึ้นทะเบียนขอรับใบอนุญาต เป็นรปภ.ต่อนายทะเบียนประจำกรุงเทพมหานคร และสำเนาใบอนุญาตดังกล่าว ก็ไม่ได้ออกโดยนายทะเบียนประจำกรุงเทพฯแต่อย่างใด ตนเองจึงมาทราบว่าเป็นใบอนุญาตปลอม

ดังนั้นในปัจจุบัน ที่ภรรยาของตนเองอาการดีขึ้นแล้ว พอจะให้การได้ ตนเองจึงพาภรรยาออกมาปรึกษาทนายเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมทางคดี และให้ตำรวจตรวจสอบทั้งตัวรปภ. และบริษัทรปภ. ต้นสังกัดด้วย ว่าได้รับอนุญาตถูกต้องหรือไม่ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลอมใบอนุญาตดังกล่าวหรือไม่

ด้านพันตำรวจเอกทิพากร แก้วเปล่ง ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 3 กองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเป็นตัวแทนรับมอบหนังสือร้องทุกข์ เปิดเผยว่า จะเสนอไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อให้มอบหมายฝ่ายอำนวยการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจรักษาความปลอดภัย ตรวจสอบบริษัทรปภ.ดังกล่าว ว่า มีการนำใบอนุญาตดังกล่าวมาจากไหน ได้รับใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่ มีการปลอมแปลงหรือกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ หากมีการปลอมใบอนุญาตขึ้นมาก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย เป็นการปลอมขึ้นโดยตัวรปภ.ที่ก่อเหตุ โดยที่บริษัทไม่รับรู้หรือไม่ รวมถึงจะประสานเร่งรัดคดีของ สน.บางโพงพางด้วย

ขณะที่ตำรวจ สน.บางโพงพาง ก็ระบุว่าขณะนี้รอเพียงให้ผู้เสียหายมาสอบปากคำเพิ่มเติมอย่างละเอียด เพื่อยืนยันตัวตนของ รปภ. ที่ก่อเหตุ จากนั้นจึงจะมีการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส