ซัดเศรษฐา นายกฯพาร์ทไทม์ สับโครงการแจกเงินหมื่น ขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ

3 เม.ย. 67

ศิริกัญญา สับโครงการแจกเงินหมื่น เละเทะ ขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ ซัดนายกฯพาร์ทไทม์ ทำผลงาน 6 เดือนไม่กระเตื้อง 

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 3 เม.ย. 67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาฯ ญัตติอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายตอนหนึ่งว่า ตนขอพูดถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจที่พบว่า ทุกวันนี้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแบบเฉพาะหน้า รอได้ ปัญหาระยะไกล ไม่เห็นทางออก 

รัฐบาลขยันแถลงผลงานมากตั้งแต่ 3 เดือนแรกที่เข้ามาเป็นรัฐบาล หลายเรื่องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ดำเนินการได้รวดเร็ว และสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนแรกที่จัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องของการลดรายจ่าย ต้องขอชื่นชมหลายโครงการ แต่บางโครงการก็ยังไม่ได้มีผลอะไรเป็นรูปธรรม แต่กลับนำมาบรรจุเป็นผลงานไว้เรียบร้อยแล้ว หลายเรื่องก็เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่นำมาเคลมได้ด้วยเหรอ เช่น การขยายเวลาเปิดสนามบินเชียงใหม่ 24 ชม.

เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผลงาน 6 เดือนของรัฐบาลที่นายกฯสัญญาว่าจะแถลงในวันที่ 15 มี.ค. แต่ก็ไม่ได้แถลง กลับพบว่ามีการผลิตผลงานซ้ำของเมื่อ 3 เดือนก่อน มานับเป็นผลงานของช่วง 6 เดือนด้วย ซึ่งไม่มีอะไรใหม่เลย 

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ตนถามว่านายกฯ เป็นนายกฯแบบพาร์ทไทม์หรือไม่ เพราะอีกส่วนหนึ่งต้องนำเวลาไปใช้เป็นเซลล์แมนของประเทศ เลยทำให้ไม่มีใครบริหารราชการแผ่นดินแบบฟูลไทม์ ทำให้ผลงานรอบ 6 เดือนถึงมีสิ่งที่เพิ่มเติมน้อยมาก แต่สิ่งที่เราเฝ้ารอในการกระตุ้นฟื้นฟูพยุงเศรษฐกิจให้ดีขึ้นเรากลับไม่เห็นเลย 

รวมถึงมาตรการลดรายจ่ายทยอยหมดอายุ ทั้งเรื่องการลดค่าไฟฟ้าและการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินที่หมดอายุไปแล้ว การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่หมดอายุ 19 เม.ย. 67 การใช้กองทุนน้ำมันอุดหนุนดีเซล การตรึงราคาก๊าซหุงต้มที่หมดอายุไปแล้ว ซึ่งเราก็ตั้งคำถามว่าจะมีแนวทางอย่างไรต่อหรือจะเป็นเพียงแค่การลดค่าครองชีพแบบชั่วคราว โดยที่ยังไม่มีแก้ไขการแก้ไขปัญหาในระยะยาว 

ส่วนมาตรการลดภาษี ตนคิดว่าก็ไม่น่าจะได้ไปต่อ เพราะกรมสรรพสามิตก็เก็บภาษีหลุดไปไกล ซึ่งต่ำกว่าเป้าไปแล้ว 32,000 ล้านบาท เพราะส่วนหนึ่งมาจากการเก็บภาษีน้ำมันไม่ได้ งานหนักเลยต้องมาตกอยู่ที่กองทุนน้ำมัน ซึ่งก่อนหน้านี้สถานะกองทุนเคยอยู่ในสถานะบวก แต่ทุกวันนี้ติดลบไปแล้ว 1 แสนล้าบาท และกู้ไปแล้วแสนล้านบาท และกู้จนใกล้จะเต็มเพดานตามกฏหมายแล้ว และถ้าจะกู้เพิ่มวันนี้ตนก็เชื่อว่าไม่มีแบงก์ไหนกล้าจะให้กู้แล้ว ซึ่งมีคำถามว่ารัฐบาลจะมีแผนจัดการอย่างไรกับสถานะของกองทุนน้ำมัน 

“ที่เราผ่านพ้นเศรษฐกิจมาได้ไม่ใช่เป็นเพราะรัฐบาล แต่มาจาก ป.ป.ช. เป็นผู้ที่แก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจให้กับเรา โดยออกรายงานมาฉบับหนึ่ง เพื่อเป่ากระหม่อมบอกว่าไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจ จากนั้นรัฐบาลก็พวกเลิกพูดว่ามีวิกฤตเศรษฐกิจทันที เพราะที่ผ่านมาการประโคมข่าวร้ายว่าประเทศกำลังวิกฤตเป็นเพียงเพื่อจะได้ใช้กลไกพิเศษในการกู้เงินเท่านั้นเอง” 

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ส่วนโครงการ ดิจิทัล วอลเล็ต ล่าสุด มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียดครั้งที่ 5 โครงการนี้มีปัญหาเรื่องรายละเอียดมาตลอด และสร้างความสับสน โดยเฉพาะเรื่องของแหล่งที่มาของเงิน เพราะตอนก่อนเลือกตั้งบอกว่าจะใช้งบประมาณปี 67 แต่พบว่าเงินไม่พอ จากนั้นมันก็จะเปลี่ยนไปกู้ออมสิน แต่กฤษฎีกาได้มาห้ามไว้เพราะผิด พ.ร.บ.ออมสินในเรื่องของวัตถุประสงค์ จากนั้นก็มีแนวคิดว่าจะใช้งบผูกพันปี 67-ปี 68 แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่าผิด พ.ร.บ.เงินตรา ต่อมาเปลี่ยนรอบที่สาม บอกว่าจะใช้งบประมาณและ พ.ร.บ.เงินกู้ แต่เมื่อเราไปดูในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 กลับไม่มีโครงการดังกล่าว 

โครงการ ดิจิทัล วอลเล็ต จึงมีการเปลี่ยนรอบที่ 4 ว่าเราจะกู้ 100% ด้วยการออก พ.ร.บ.เงินกู้ แต่มีการเตะตัดขา โดย ป.ป.ช. บอกว่าผิด พ.ร.บ.วินัย ดังนั้นรอบนี้จึงมีความน่าตื่นเต้น เพราะจะเป็นครั้งที่ 5 และเรากำลังลุ้นว่าจะมีการเปลี่ยนครั้งที่ 6 หรือไม่ โดยครั้งนี้น่าจะใช้แหล่งเงินจากสามแหล่งได้แก่ งบกลางปี 67 และแบ่งงบ ปี 68 รวมทั้งกู้ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นกลวิธีที่พิสดาร รวมถึงจำนวนคนที่จะได้รับเงินจาก และวันที่แจกเงินเลื่อนไปเรื่อยๆ แอปพลิเคชั่นที่จะใช้ก็เปลี่ยนไปมา และอาจจะต้องมีการทำระบบใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น โดยกระทรวงดีอีเอส และสำนักงานรัฐบาลดิจิตอลเป็นผู้ทำ 

“รัฐบาลต้องยอมรับว่าโครงการนี้ค่อนข้างเละเทะ เพราะมีการเปลี่ยนแหล่งที่มาของเงินไปมา 5 ครั้ง จนตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะมีรอบที่ 6 หรือไม่ และเลื่อนการแจกมา 4 ครั้งเปลี่ยนเทคโนโลยีแอปพลิเคชั่นที่ใช้ เปลี่ยนจำนวนคนตลอดเวลา ทำให้ชวนคิดว่าสรุปแล้วรัฐบาลนี้มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศมาก่อนจริงใช่ไหม เพราะเรื่องความรู้ความเข้าใจในเรื่องการคลัง ทำให้ตกใจว่าทำไมถึงกล้าออกนโยบายลักษณะแบบนี้ออกมาได้ และการเปลี่ยนไปมาเยอะขนาดนี้ ยิ่งแสดงว่าไม่มีการเตรียมความพร้อมใดๆเลยตั้งแต่เริ่มต้น จึงขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ แบบนี้” 

ด้านนาย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ลุกขึ้นชี้แจงว่า สิ่งที่ท่านพูดมาทั้งหมดเรากำลังดำเนินการอยู่ จะมาตัดเกรดเด็กที่เข้าเรียนในวันที่สองวันที่สามคงเป็นไปไม่ได้ซึ่งก็ต้องรอให้จบภาคการศึกษาก่อน ซึ่งการจบภาคการศึกษาของรัฐบาลก็คือครบ 3 ปี ส่วนการตรวจสอบการทำงานเป็นระยะแบบนี้ พวกตนยินดีและมองว่าเป็นเวทีที่เป็นประโยชน์ เมื่อรัฐบาลครบวาระมาตัดเกรดกันอีกทีก็หวังว่าจะได้เกรดเอ และนำการบ้านไปส่งผู้ปกครองคือ ประชาชน 

นาย จุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนโครงการ ดิจิทิล วอลเล็ต ก็เป็นการคาดเดาของผู้อภิปรายเอง ทำให้เกิดความสับสนบ้าง แต่ก็ขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วงและให้กำลังใจ อยากจะให้โครงการนี้เดินหน้าได้ ตนก็มีความหวังเช่นเดียวกัน วันนี้อยากให้ลดเรื่องการคาดการณ์และการคาดเดาลง เพราะอีกเพียงไม่กี่วัน วันที่ 10 เม.ย. ก็จะมีการแถลงความชัดเจน เพราะตนยังพูดวันนี้ ไม่ได้เนื่องจากกลไกทางกฎหมายจำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการก่อน เพราะถ้าตนพูดก็จะเป็นการชี้นำ และไม่ถูกขั้นตอน ดังนั้นรออีกไม่นาน และไม่อยากให้คาดเดาไปต่างๆ นานา เพราะถ้าผิดมาก็จะหน้าแตกกันอีกดังนั้นต้องรอความชัดเจน

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส