ตร.ไซเบอร์ ยันโทรคุย 2 นาที ดูดเงินหมดบัญชี ไม่จริง

14 ก.พ. 67

ตร.ไซเบอร์ ยืนยันมิจฉาชีพแค่โทรมาหลอกคุย 2 นาที ดูดเงินหมดบัญชี ไม่เป็นความจริง

 

หลังจากอดีตสมาชิกแก๊งคอลเซนเตอร์ ออกมาให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้อุปกรณ์ล้ำสมัย ราคาเครื่องละ 14 ล้านบาท ดูดเงินออกจากบัญชีเหยื่อได้ด้วยการพูดคุยเพียง 2 นาที โดยไม่ต้องกดลิ้งก์และไม่ต้องกดแอปฯใด

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ยืนยัน มิจฉาชีพแค่โทรมาหลอกคุย 2 นาที ดูดเงินหมดบัญชี ไม่เป็นความจริง

จากการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลพยานหลักฐานในคดีที่เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันก่อนหน้านี้ รวมไปถึงคำแถลงการณ์ของศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) ภายใต้สมาคมธนาคารไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอยืนยันว่าแค่การรับโทรศัพท์ หรือการกดลิงก์เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้มิจฉาชีพดูดเงินในบัญชีออกไปได้ แม้การรับโทรศัพท์ หรือ การกดลิงก์ จะเป็นจุดเริ่มต้นให้มิจฉาชีพหลอกลวง แต่จำเป็นต้องมีพฤติการณ์อื่นร่วมด้วย

ทั้งนี้ มิจฉาชีพมักจะใช้วิธีหลัก ๆ ในการหลอกลวงเหยื่อ คือ พูดให้เหยื่อโอนเงินให้เอง อาทิ พยายามหลอกถามข้อมูลเหยื่อเพื่อนำข้อมูลไปใช้เข้าถึงบัญชีบน Application ของเหยื่อ, หลอกล่อให้เหยื่อติดตั้งโปรแกรมควบคุมมือถือเพื่อโอนเงินออกเอง และหลอกล่อให้เหยื่อเผลอกดรหัสนิรภัย หรือ ข้อมูลสำคัญสำหรับโอนเงิน

และเมื่อเหยื่อรับสายมิจฉาชีพ จะพยายามสร้างความน่าเชื่อถือให้ตนเอง พยายามสนทนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหยื่อไม่มีสมาธิจดจ่อกับข้อความที่ปรากฎขึ้นบนโทรศัพท์ เมื่อเหยื่อเริ่มเคลิ้มตามไปกับมิจฉาชีพ มิจฉาชีพจะใช้จังหวะนี้ในการหลอกถามข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อใช้ในการเข้าถึงแอปบัญชีธนาคาร

จากกรณีก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น “สายชาร์จดูดเงิน”, “ลิงก์ดูดเงิน“, “QR Code ดูดเงิน” และในกรณีล่าสุด “รับสายแล้วดูดเงิน” ล้วนไม่เป็นความจริง มิจฉาชีพต้องดำเนินการอีกหลายขั้นตอนกว่าที่จะสามารถขโมยบัญชีของเหยื่อได้

แนวทางการป้องกัน คือ ไม่ดาวน์โหลดติดตั้ง รวมถึงกดลิงก์ใดๆ โดยเฉพาะจากแหล่งที่ไม่รู้จัก พร้อมให้ตรวจสอบลิงก์ก่อนกดทุกครั้ง ไม่สแกนใบหน้ากับโปรแกรมจากแหล่งอื่น ๆ นอกเหนือจากแหล่งที่ได้รับการควบคุมและรับรองความปลอดภัยจากผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่เป็น Official Store (App Store สำหรับ IOS และ Play Store สำหรับ Android เป็นต้น) เมื่อรู้ตัว หรือสงสัยว่ากำลังคุยกับมิจฉาชีพ ไม่แนะนำให้คุยต่อ เพราะอาจจะหลงเชื่อมิจฉาชีพ เนื่องจากมิจฉาชีพอาจจะมีข้อมูลจริงทำให้พูดคุยแล้วยิ่งหลงเชื่อ รวมไปถึงอาจเสี่ยงต่อการถูกนำเสียงไปใช้ปลอมเพื่อหลอกลวงผู้อื่นต่อ หลีกเลี่ยงการใช้รหัสเดียวกันในการปลดล็อกอุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะรหัสเข้าแอปพลิเคชัน Mobile Banking เพื่อป้องกันการเผลอกดรหัสโอนเงินโดยไม่ตั้งใจ.

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส