อัยการสูงสุด แจงยิบ ทักษิณ ปฏิเสธข้อกล่าวหาพร้อมยื่นขอความเป็นธรรม

6 ก.พ. 67

อัยการสูงสุด แจงยิบ ทักษิณถูกแจ้งข้อหา ม.112 และ พรบ.คอมฯ เบื้องต้นปฏิเสธข้อกล่าวหาพร้อมยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ยันคดีไม่ยืดเยื้อซ้ำรอยทายาทกระทิงแดง

 

วันที่ 6 ก.พ. 67 นายประยุทธ เพรชคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกฯ นายณรงค์ ศรีระสันต์ รองโฆษกฯ แถลงความคืบหน้า กรณีที่นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย โพสต์หนังสือความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558

นายประยุทธ์ บอกว่า ทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้รับหนังสือการกระทำผิดนอกราชอาณาจักร ของนายทักษิณ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 ทางอัยการสูงสุดได้พิจารณา และมีความเห็นควรสั่งฟ้องนายทักษิณ แต่ขณะนั้นนายทักษิณยังอยู่ต่างประเทศ จึงมีการออกหมายจับภายในอายุความ 15 ปี นับตั้งแต่วันเกิดเหตุ โดยคดีนี้จะขาดอายุความในวันที่ 21 พฤษภาคม 2573

แต่เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 นายทักษิณ เดินทางกลับมาไทยและรับโทษในคดีอาญาเรื่องอื่น พนักงานสอบสวนจึงได้นำหมายจับไปแจ้งอายัดตัวผู้ต้องหาในกรมราชทัณฑ์ ทำให้ เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่ผ่านมา อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวนและคณะพนักงานสอบสวนที่ดูแลคดีได้เข้าไปแจ้งข้อกล่าวหากับนายทักษิณที่โรงพยาบาลตำรวจ โดย นายทักษิณได้ให้การปฏิเสธพร้อมยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมภายในวันเดียวกัน ทำให้หลังจากนี้ทางอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ต้องส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนและหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้กับพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบคดี นำไปประกอบสำนวนเพื่อส่งให้กับอัยการสูงสุดพิจารณาซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาดังกล่าว

โดยตามกฎหมายทางอัยการสูงสุดมีอำนาจในการออกความเห็น 3 อย่างของสำนวนนี้คือ 1. ข้อเท็จจริงหากเห็นว่าข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนสามารถสั่งให้พนักงานอัยการไปสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม 2. หากข้อเท็จจริงเพียงพอแล้วให้ยืนตามความเห็นเดิมที่ว่า ให้สั่งฟ้องนายทักษิณตามข้อกล่าวหา 3. หากพิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติกรรมไม่เข้าข่ายความผิด สามารถมีความเห็นไม่สั่งฟ้องนายทักษิณได้ ทั้งนี้ต้องพิจารณาตามคำร้องหนังสือขอความเป็นธรรมที่นายทักษิณแย้งมาว่ามีข้อต่อสู้อะไรที่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงในสำนวนได้ หากไม่มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมได้

ส่วนประเด็นการอายัดตัวนายทักษิณ นายนาเคนทร์ อธิบายว่า ขณะนี้ทางกรมราชทัณฑ์ยังไม่มีคำสั่งชัดเจนในการอายัดตัวนายทักษิณ จึงต้องรอคำสั่งความชัดเจน จากกรมราชทัณฑ์ หากนายทักษิณได้รับการพักโทษในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ ตามขั้นตอนกรมราชทัณฑ์จะต้องแจ้งพนักงานสอบสวน ล่วงหน้า 7 วันก่อนปล่อยตัว เพื่อให้ไปรับตัวนายทักษิณมาดำเนินคดีในคดี 112 และเมื่อพนักงานสอบสวนไปรับตัวแล้วจะพิจารณาเรืองให้ประกันตัว หรือ ปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพนักงานสอบสวน หรือจะไปดำเนินการขั้นตอนการฝากขังผัดแรกของในคดี 112 และเมื่อพนักงานสอบสวนพิจารณาแล้วหรือรับตัวมาแล้ว ก็จะมีหนังสือมาแจ้งอัยการสูงสุดว่ามีการรับตัวนายทักษิณมาแล้ว และอยู่ในขั้นตอนไหนของพนักงานสอบสวน และเมื่ออัยการได้รับขั้นตอนจากพนักงานสอบสวนมาแล้วหน้าที่ของอัยการจากนั้น จะต้องมาพิจารณาเอกสารการร้องขอความเป็นธรรมและพิจารณาสำนวนคดี

ส่วนความกังวลสำหรับหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของนายทักษิณ จะทำให้คดียืดเยื้อเหมือนกรณีของนายบอส อยู่วิทยา ที่มีการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้ง ประเด็นดังกล่าวนายประยุทธ์ ยืนยันว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนั้นแน่นอน เนื่องจากสำนักอัยการสูงสุดได้ถอดบทเรียนจากกรณีของบอส อยู่วิทยา พร้อมปรับแก้ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ในกรณีการร้องขอความเป็นธรรมโดย ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องเป็นผู้มายื่นคำร้องด้วยตัวเอง ไม่สามารถให้ทนายความหรือบุคคลบุคคลอื่นที่รับมอบอำนาจมายื่นให้โดยเด็ดขาด และหากเห็นว่าเป็นการยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม เพื่อประวิงเวลาอัยการสูงสุดก็มีอำนาจในการยุติการร้องขอความเป็นธรรมได้เช่นกัน พร้อมขอให้สังคมเชื่อมั่นการทำงานของอัยการสูงสุดว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม