รมว.กษ. ลงพื้นที่ตรวจราชการ มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำเมืองระนอง
วันที่ 23 มกราคม 2567 ณ อาคารอเนกประสงค์ องค์การบริหารส่วนตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการ โดยมี นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน นายโรจน์วัฒน์ อินทร์ทุ่ง ผู้อำนวยการกองแผนงาน นายบุรีรัตน์ วงศ์บุรี เลขานุการกรมชลประทาน นายนรเศรษฐ สองทอง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 14 นายนายพิมล สกุลดิษฐ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานระนอง พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมติดตามพร้อมบรรยายผลการดำเนินงาน
สืบเนื่องจากตำบลกะเปอร์และตำบลสุขสำราญ จังหวัดระนอง เกิดปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง รวมถึงปัญหาจากน้ำทะเลหนุนสูง เกิดน้ำเค็มรุกพื้นที่ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ขาดแหล่งน้ำต้นทุน สำหรับใช้ในการอุปโภค-บริโภค และเกษตรกรรม กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการเพื่อบรรเทาปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ ทั้งสิ้น 3 โครงการ ได้แก่
- โครงการอ่างเก็บน้ำคลองเคียนงาม ในพื้นที่บ้านตะเคียนงาม ตำบลบางหิน อำเภอกะเปอร์ ความจุ 19.96 ลบ.ม. หากดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ได้ประมาณ 32,000 ไร่ ใน 3 ตำบล ประกอบไปด้วย ตำบลบางหิน ตำบลม่วงกลวง และตำบลกะเปอร์
- โครงการประตูระบายน้ำคลองกะเปอร์พร้อมอาคารประกอบ ตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์ หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยป้องกันน้ำเค็มไม่ให้รุกเข้าสู่พื้นที่การเกษตร และพื้นที่ชุมชนตำบลกะเปอร์ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ประมาณ 120,000 ลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 2,000 ไร่ ช่วยลดปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ หมู่ที่ 1 บ้านด่าน และหมู่ที่ 5 บ้านกงษี อำเภอกะเปอร์
- โครงการประตูระบายน้ำคลองนาคาสายใหญ่ หมู่ที่ 2 ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยป้องกันน้ำเค็มรุกในพื้นที่ตำบลนาคาได้ประมาณ 5,000 ไร่ และเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 2 บ้านนาพรุ หมู่ที่ 5 บ้านฝ่ายท่า ตำบลนาคาและบริเวณใกล้เคียง จำนวน 724 ครัวเรือน รวมถึงสนับสนุนการเพาะปลูกในช่วงฤดูฝนได้กว่า 3,000 ไร่ และช่วงฤดูแล้งประมาณ 2,000 ไร่
ในการนี้ ร้อยเอกธรรมนัสฯ ได้มอบหมายให้ กรมชลประทานเร่งดำเนินการโครงการดังกล่าว เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำ ตามแผนที่วางไว้เพื่อให้ชาวระนองมีแหล่งน้ำต้นทุนไว้ใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตรกรรม และถือเป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ให้ยั่งยืนสืบไป