ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ภูเก็ตสูงสุด 3 จังหวัดชายแดนใต้น้อยสุด

8 ธ.ค. 66

กระทรวงแรงงานประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ภูเก็ตสูงสุด 3 จังหวัดชายแดนใต้น้อยสุด

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่กระทรวงแรงงาน มีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 ที่ประกอบด้วยกรรมการไตรภาคีพิจารณาการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2566 โดย นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุม โดยเริ่มการประชุมตั้งแต่เวลา 10.00 -15.00 น. เบื้องต้นข้อมูลจากที่ประชุมพบว่ามี 5 จังหวัดไม่ได้เสนอขอปรับค่าจ้างขั้นต่ำเข้ามาแต่อย่างใด หนึ่งในนั้นคือ จ.ภูเก็ต อย่างไรก็ตาม การจากหารือเป็นเวลากว่า 5 ชั่วโมง จึงได้ข้อสรุป

นายไพโรจน์ในฐานะกรรมการไตรภาคีได้แถลงผลการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2566 ว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั้ง 77 จังหวัด ในอัตราเพิ่มขึ้น 2-16 บาท ซึ่งค่าจ้างค่าขั้นต่ำที่เพิ่มมากที่สุดคือ จ.ภูเก็ต คือ 370 เพิ่มขึ้นจาก 354 บาท และต่ำที่สุดคือ 330 บาท ใน 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 328 บาท

1.อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 370 บาท 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต จากเดิม 354 บาท

2.อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 363 บาท 6 จังหวัด กรุงเทพมหานคร (353) จังหวัดนครปฐม (353) นนทบุรี (353) ปทุมธานี (353) สมุทรปราการ (353) และสมุทรสาคร (353)

3.อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 361 บาท 2 จังหวัด จังหวัดชลบุรี (354) และระยอง (354)

4.อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 352 บาท จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา (340)

5.อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 351 บาท จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสงคราม (338)

6.อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 350 บาท จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (343) สระบุรี (340) ฉะเชิงเทรา (345) ปราจีนบุรี (340) ขอนแก่น (340) และเชียงใหม่ (340)

7.อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 349 บาท จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลพบุรี (340)

8.อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 348 บาท จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี (340) นครนายก (338) และหนองคาย (340)

9.อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 347 บาท จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ (340) และตราด (340)

10.อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 345 บาท จำวน 15 จังหวัดกาญจนบุรี (335) ประจวบคีรีขันธ์ (335) สุราษฎร์ธานี (340) สงขลา (340) พังงา (340) จันทบุรี (338) สระแก้ว (335) นครพนม (335) มุกดาหาร (338) สกลนคร (338) บุรีรัมย์ (335) อุบลราชธานี (340) เชียงราย (332) ตาก (332) พิษณุโลก (335)

11.อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 344 บาท จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี (335) ชุมพร (332) สุรินทร์ (335)

12.อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 343 บาท จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยโสธร (335) ลำพูน (332) นครสวรรค์ (335)

13.อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 342 บาท จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช (332) บึงกาฬ (335) กาฬสินธุ์ (338) ร้อยเอ็ด (335) เพชรบูรณ์ (335)

14.อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 341 บาท จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยนาท (335) สิงห์บุรี (332) พัทลุง (335) ชัยภูมิ (332) และอ่างทอง (335)

15.อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 340 บาท จำนวน 16 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง (332) สตูล (332) เลย (335) หนองบัวลำภู (332) อุดรธานี (340) มหาสารคาม (332) ศรีสะเกษ (332) อำนาจเจริญ (332) แม่ฮ่องสอน (332) ลำปาง (332) สุโขทัย (332) อุตรดิตถ์ (335) กำแพงเพชร (332) พิจิตร (332) อุทัยธานี (332) และราชบุรี (332)

16.อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 338 บาท จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตรัง (332) น่าน (328) พะเยา (335) แพร่ (332)

17.อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 330 บาท จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส (328) ปัตตานี (328) และยะลา (328)

เฉลี่ย 345 รวม 77 จังหวัด

ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

นายไพโรจน์ กล่าวว่า เหตุผลของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ จะต้องดูเรื่องอัตราเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ สภาพการจ้างงาน อัตราการว่างงาน ซึ่งอาจจะมีคำถามว่าบางจังหวัดขึ้นค่าจ้างน้อย บางจังหวัดขึ้นค่าจ้างสูง ต้องย้ำว่าทางคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละจังหวัด มีสูตรการคำนวณตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ แล้วนำมาพิจารณาในที่ประชุมวันนี้ ดังนั้น การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่สามารถดูได้จากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง จะต้องดูจากหลายปัจจัยประกอบ

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี จ.ภูเก็ต ที่ได้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำสูงที่สุดเป็น 370 บาท จากข้อมูลการหารือในช่วงเช้าระบุว่า จ.ภูเก็ต ไม่ได้มีการเสนอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ประชุมมีเหตุผลในการพิจารณาอย่างไรบ้าง นายไพโรจน์ กล่าวว่า จ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดพิเศษ เนื่องจากมีภาคเกษตรกรรมน้อยมาก แต่มีแหล่งท่องเที่ยวมากที่สุด และมีอัตราการจ้างงานสูง บางธุรกิจมีการจ้างมากกว่า 400 บาทต่อวัน และอีกสาเหตุหนึ่งก็เรื่องค่าครองชีพในพื้นที่ ดังนั้น ค่าจ้าง 370 บาทต่อวัน เราคิดว่าเป็นตัวเลขที่เหมาะสม

เมื่อถามถึงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ นายไพโรจน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ก็อาจจะเป็นการพิจารณาในระยะถัดไป ซึ่งก็จะพยายามปรับให้ขึ้นเป็นไปตามอัตราที่กำหนดไว้คือ 400 บาท แต่ต้องทำความเข้าใจว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำนั้นเป็นการพิจารณาร่วมกันใน 3 ภาคี ที่ต่างก็มีเหตุผลเห็นสมควร

ถามว่า หากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งให้มีการทบทวนเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ จะต้องทำอย่างไร นายไพโรจน์กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ถือว่าเป็นที่สิ้นสุดแล้ว แต่หากจะมีการปรับค่าจ้างใหม่ ก็ต้องมีการพิจารณาในปีหน้า

เมื่อถามอีกว่า ในกฎหมายไม่ได้มีการกำหนดว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทำได้เพียงปีละครั้ง เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการปรับเพิ่มอีกครั้งในปีหน้า ไพโรจน์ กล่าวว่า ก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามมติในที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างด้วย ซึ่งหากจะมีการปรับเพิ่มอีกครั้งในรอบปี ทางอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างจังหวัด จะต้องพิจารณาหลักการและเหตุผล เพราะเราไม่สามารถขึ้นโดยคณะกรรมการค่าจ้างเพียงอย่างเดียว

เมื่อถามว่าในการประชุมครั้งนี้มีปัญหาการปรับตัวเลขมากที่สุดในภูมิภาคใด นายไพโรจน์ กล่าวว่า กรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่วันนี้ก็ถือว่าเป็นการประชุมที่เสร็จเร็วกว่ากำหนด แม้ว่าจะมีการขอเวลานอกออกไปประชุมก่อนกลับมาร่วมพิจารณาในที่ประชุม เพื่อความรอมชอมและความเห็นอกเห็นใจระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง.

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม