“พิธา” พูดที่ ม.เกาหลี-อนาคตประชาธิปไตยในไทย และความสัมพันธ์ 2 ประเทศ

7 ธ.ค. 66

คนแห่ฟังแน่นห้อง "พิธา" บรรยายพิเศษมหาวิทยาลัยเกาหลี อนาคตประชาธิปไตยไทยและความสัมพันธ์ไทย-เกาหลีใต้

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Towards a Brighter Horizon: Thai Democracy and the Future of Thai-Korea Relations"  เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ที่มหาวิทยาลัยเกาหลี (Korea University) ในกรุงโซล เกาหลีใต้ โดยมีรองศาสตราจารย์แจ ฮยอก-ชิน (Jae Hyeok Shin) ผู้อำนวยการ Korea University ASEAN Center ทำหน้าที่ดำเนินรายการ

โดยเมื่อถูกถามถึงการถอดบทเรียนความสำเร็จของพรรคก้าวไกลจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมาที่ผลการเลือกตั้งสะท้อนว่า พรรคก้าวไกลกลายเป็นพรรคการเมืองพรรคที่ 3 พรรคแรกในบริบทความขัดแย้งทางการเมืองแบ่งขั้วเหลือง-แดงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาที่คว้าจำนวน สส. ได้มากที่สุดในสภา อะไรคือสิ่งที่ทำให้พรรคได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ นายพิธาระบุว่า คำตอบที่กระชับที่สุดก็คือสังคมไทยเกิดฉันทามติใหม่สำหรับความปกติใหม่ (New Consensus for New Normal) ความขัดแย้งแบ่งขั้วการเมืองทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศหยุดชะงักเป็น 2 ทศวรรษที่สูญหาย โดยนับตั้งแต่ปี 2549 สังคมไทยต้องเผชิญการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง ตลอดจนการประท้วงอีกมากมาย นี่ทำให้ฉันทามติใหม่เป็นสิ่งที่คนมองหา

โดยหากวิเคราะห์ถึงความเห็นต่างของขั้วขัดแย้งของมวลชน 2 ฝ่าย จะเห็นได้ว่าในฝั่งอนุรักษนิยมหรือคนเสื้อเหลือง ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการทุจริต ในขณะที่ฝั่งคนเสื้อแดงกังวลเกี่ยวกับการใช้วิถีทางต่อต้านประชาธิปไตยที่รวมถึงการรัฐประหาร ระบบสองมาตรฐาน และความเป็นธรรม โดยการหลุดพ้นจากวงจรที่เริ่มจากความขัดแย้ง การแก้รัฐธรรมนูญใหม่ การเลือกตั้ง และการรัฐประหารที่วนไปมาซ้ำ ๆ คือต้องทำให้เกิด common ground (หลักการที่ทุกฝ่ายตกลงยอมรับร่วมกัน) ในสังคมและทำให้เชื่อมั่นว่าปัญหาเหล่านี้ที่ทุกฝ่ายกังวลจะได้รับการตอบสนองไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาทุจริต การให้ความสำคัญต่อหลักนิติธรรม (Rule of Law) การตรวจสอบถ่วงดุล ประชาธิปไตย และเสรีภาพ

พิธาระบุว่าประเทศที่เผชิญความไร้เสถียรภาพของประชาธิปไตยที่การรัฐประหารหรือความพยายามรัฐประหารอาจเกิดขึ้นได้ทุก 5-6 ปี ทำให้ยากแก่ภาคธุรกิจที่จะประเมินความเสี่ยงทางการเมืองที่จะเกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ นี่เป็นเรื่องยากสำหรับประเทศในการที่จะมีเสรีภาพในการสร้างนวัตกรรม

นอกจากนี้ยังระบุว่า สำหรับตนเองแล้วการได้มาเยือนเกาหลีใต้มีสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาในความคิดอยู่สองสามอย่างและมองว่ามีความสำคัญที่ทำให้เกาหลีใต้ยืนอยู่ในจุดที่เป็นอยู่ทุกวันนี้นั่นคือ รากฐานประชาธิปไตยที่หมายถึงสิทธิในการปกครองตนเอง (autonomy) และเสรีภาพ ตลอดจน High Tech Economy และ High Touch Economy (มีทั้งนวัตกรรมเทคโนโลยีและวัฒนธรรมสร้างสรรค์) สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศขนาดกลาง มีประชากรราวๆ 50 กว่าล้านคนไม่ได้ต่างจากไทยมากนัก สามารถเอาตัวรอดได้ในสภาพการแข่งขันของโลกที่เป็นอยู่ในตอนนี้ แต่การไปสู่การมี high tech และ high touch เกาหลีใต้ได้พิสูจน์แล้วว่านอกจากนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ สิ่งที่เป็นพื้นฐานที่อนุญาตให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจในทิศทางดังกล่าวเกิดขึ้นได้ก็คือรากฐานประชาธิปไตย ประชาชนได้ลองผิดลองถูก รัฐบาลได้ทำงานเพื่อประชาชน

“ซึ่งนี่ทำให้นึกถึงช่วงเวลาที่เรียนอยู่ที่ฮาร์วาร์ดและ MIT และได้มีเพื่อนร่วมชั้นจากเกาหลีใต้ซึ่งอาจจะมีความเห็นต่างกันต่อรัฐบาล หรือมุมมองต่อสวัสดิการสังคม สิทธิแรงงานหรือประเด็นอื่นใดก็ตาม แต่สิ่งที่ได้พบในเพื่อนชาวเกาหลีใต้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ก็คือการไม่เดินออกจากเส้นทางที่ประชาธิปไตยควรเป็น” นายพิธากล่าว

โดยตนมองว่านี่น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เกาหลีใต้มีความก้าวหน้าทั้งในแง่ประชาธิปไตย เสรีภาพและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ดังที่สะท้อนผ่านตัวชี้วัดต่าง ๆ ในระดับโลก ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและเศรษฐกิจลักษณะนี้คือปัจจัยที่อนุญาตให้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีนวัตกรรมและความสร้างสรรค์ในเวลาเดียวกัน และเป็นทิศทางการพัฒนาที่ตนเองอยากจะเดินหน้าไปสู่จุดนั้นหากอยู่ในฐานะผู้นำประเทศ

ส่วนในประเด็นความสัมพันธ์ไทย-เกาหลีใต้ เมื่อถูกถามว่ามองเห็นโอกาสอะไรบ้างที่รออยู่ข้างหน้าในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ นายพิธาระบุว่ามองได้ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมือง การประกาศข้อริเริ่ม Korea-ASEAN Solidarity Initiative (KASI) ของรัฐบาลเกาหลีใต้ภายใต้ประธานาธิบดียุน ซ็อกยอล สะท้อนให้เห็นความสำคัญของภูมิภาคอาเซียนต่อเกาหลีใต้ โดยที่ผ่านมาเกาหลีใต้และอาเซียนมีความสัมพันธ์ที่ดีมาโดยตลอด ในแง่เศรษฐกิจที่มีการลงนามความตกลงการค้าเสรีในปี 2549 แต่ขณะเดียวกันก็มองว่าข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีที่อาจเป็นได้ในอนาคตระหว่างเกาหลีใต้และประเทศในอาเซียนรวมถึงไทยอาจจำเป็นต้องรวมเอาการกำหนดยุทธศาสตร์ที่คำนึงถึงประเด็นความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน สิ่งแวดล้อม, ดิจิทัล, การแพทย์, รถยนต์ไฟฟ้า และอื่นๆ ที่อยู่บนฐานคิดของการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศและผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองฝ่ายมาพิจารณา

ส่วนในแง่ความร่วมมือทางการเมือง มองว่ามีพื้นที่ของการขยายความร่วมมือระหว่างกันในประเด็นสถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีในฐานะส่วนหนึ่งของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ผ่านกรอบความร่วมมือการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum - ARF) ซึ่งเป็นเวทีนานาชาติที่มีทั้งเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือร่วมด้วยในฐานะคู่เจรจาของอาเซียน ทำให้เราสามารถใช้เวทีดังกล่าวปรึกษาหารือระหว่างรัฐสมาชิกในด้านการเมือง ความมั่นคง เพื่อเดินหน้าสร้างสันติภาพในเอเชีย ซึ่งอาเซียนสามารถมีบทบาทสำคัญด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ตนยังคิดถึงการมีบทบาทของประเทศไทยในส่วนหนึ่งของระเบียบโลกใหม่ ซึ่งหากนับแต่ประเทศไทยที่มีประชากรกว่า 70 ล้านคนเพียงลำพัง ประเทศมหาอำนาจอาจจะไม่ฟัง แต่ถ้านับเป็นอาเซียนทั้งหมดเกือบ 670 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วยประเทศที่มีอำนาจขนาดกลาง (Middle Powers) หลายๆ ประเทศ แต่ประเด็นคือประเทศอาเซียนจะต้องพยายามเกาะกลุ่มกันเพื่อให้บรรลุความเป็นศูนย์กลางอาเซียน (ASEAN Centrality) และเมื่ออาเซียนประสานความร่วมมือกับอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้งเกาหลีด้วย ก็สามารถกลายเป็นอำนาจที่มีขนาดใหญ่พอที่จะมีปากเสียง มีพลังในการสร้างสันติภาพในเอเชีย และมีอำนาจในการต่อรองเจรจากับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการบรรยายได้มีการเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมฟังซักถามซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้เข้าฟังที่มีทั้งนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกาหลีและอื่นๆ ตลอดจนคนไทยที่เข้าร่วมฟังการบรรยายด้วย โดยประเด็นคำถามครอบคลุมตั้งแต่สถานการณ์การเมืองในไทย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ตลอดจนความเห็นต่อการแก้ไขปัญหาการจ้างงานแรงงานไทยและปัญหากระบวนการตรวจคนเข้าเมืองด้วย

โดยพิธาระบุว่าไทยกับเกาหลีใต้เป็นมิตรกันมาถึง 65 ปี ในระยะยาวเราสามารถพัฒนามิตรภาพของเราให้มั่นคงได้ แม้ในระยะสั้นอาจมีความต่างกันบ้าง โดยเฉพาะในกรณีแรงงานไทยและการส่งกลับคนไทย แต่นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันในฐานะมิตร

จากการที่ตนได้ไปเยือนและรับฟังจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องระหว่างการเยือนเกาหลีใต้ ตนเข้าใจดีถึงความซับซ้อนของปัญหา แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีอุปสงค์และอุปทานจากทั้งสองฝ่าย มีความต้องการของแรงงานจากไทย และก็มีความต้องการแรงงานไทยจากฝั่งบริษัทเกาหลีเช่นกัน สิ่งที่เป็นข้อแตกต่างก็คือในอุตสาหกรรมต่างๆ มีความต้องการปริมาณแรงงานในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน

ซึ่งสิ่งที่ดีที่สุด คือการที่ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายเกาหลีร่วมเผชิญหน้าปัญหาด้วยกันอย่างเปิดเผย พูดคุยและหาข้อตกลงร่วมกันเพื่อจัดสรรความแตกต่างที่เรามีอยู่ เมื่อนั้นตนเชื่อว่าจะสามารถบรรเทาปัญหาทั้งการหนีเข้าเมืองของคนไทย และการส่งกลับคนไทยจากเกาหลีได้

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส