1 ธันวาคม วันเอดส์โลก (World AIDS Day) เปิดที่มาและความสำคัญ

1 ธ.ค. 66

1 ธันวาคม วันเอดส์โลก (World AIDS Day) เปิดที่มาและความสำคัญ ไขข้อสงสัยทำไมถึงใช้โบว์สีแดงเป็นสัญลักษณ์ในวันเอดส์โลก

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้ วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปีเป็น "วันเอดส์โลก (World AIDS Day)" เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1988 เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคเอดส์ การยอมรับ และเข้าใจผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก ดยใช้โบว์แดงเป็นสัญลักษณ์สากล ที่แสดงถึงการตระหนักรู้ การสนับสนุนและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี อีกทั้งยังเป็นการย้ำเตือนว่า เอชไอวี/เอดส์ยังคงอยู่

 istock-1482693635

 

โรคเอดส์ (Acquired Immune Deficiency Syndrome) AIDS

  • A = Acquired หมายถึง ภาวะที่เกิดขึ้นภายหลังไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด หรือไม่ได้ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • I = Immune หมายถึง ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • D = Deficiency หมายถึง ความบกพร่อง ความเสื่อม
  • S = Syndrome หมายถึง กลุ่มอาการของโรค ซึ่งมีอาการหลายลักษณะตามระบบต่าง ๆ ของร่างกาย

 

โรคเอดส์ (AIDS) หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

คือ ระยะสุดท้ายของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ที่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 หรือ T-cells ในระบบภูมิคุ้มกันร่างกายถูกทำลาย ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดต่ำ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ และนำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนหรือโรคติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น วัณโรค โรคปอดอักเสบ PJP หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ รวมถึงมะเร็งบางชนิด ปัจจุบัน การรักษา HIV มีความก้าวหน้า สามารถวินิจฉัยโรคได้เร็ว มียาต้านไวรัสประสิทธิภาพสูงที่ให้ผลดีในการรักษา ช่วยเพิ่มปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 ที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้

 

โรคเอดส์ (Immune deficiency syndrome: AIDS)

เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวี (Human immunodeficiency virus: HIV)  ในร่างกาย และมีการดำเนินโรคไปแล้วเป็นระยะเวลาประมาณ 10 ปี เชื้อ HIV จึงพัฒนาสู่โรคเอดส์เต็มขั้น เมื่อเชื้อ HIV เข้าสู่ร่างกายจะทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย จนทำให้ไม่มีภูมิต้านทานเพียงพอในการป้องกันตนเองจากเชื้อโรคภายนอกที่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดโรคเฉียบพลัน โรคแทรกซ้อน หรือโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่มีความรุนแรง และยากแก้การรักษา

 

โรคเอดส์เป็นเชื้อไวรัสในตระกูลรีโทรไวรัส (Retrovirus) ซึ่งเป็นไวรัสที่มีสารพันธุกรรมเป็นแบบอาร์เอ็นเอ (RNA) รีโทรไวรัสมีคุณสมบัติพิเศษ คือการเปลี่ยนสารพันธุกรรมของตนเองให้เป็น DNA ของเซลล์โฮสต์ได้ จากนั้นจะแทรกแซงการทำงานในโครโมโซมของเซลล์โฮสต์และป้อนคำสั่งแทนที่ DNA ของเซลล์โฮสต์ และแบ่งตัวเพิ่มจำนวนไปเรื่อย ๆ

 

ระยะการติดเชื้อ HIV

ระยะการติดเชื้อ HIV มี 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 ระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อ HIV (Primary infections: Acute HIV) เป็นระยะแรกของการติดเชื้อเอชไอวี ในช่วง 2-4 สัปดาห์แรกหลังการได้รับเชื้อ ในระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อ HIV นี้ ไวรัสจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วและทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 หรือ T-cells ให้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะต่อสู้โดยการค่อย ๆ เพิ่มจำนวน CD4 ในร่างกายเพื่อต่อต้านเชื้อไวรัส แม้ว่าปริมาณ CD4 จะไม่มากเท่ากับขณะก่อนติดเชื้อก็ตาม ในระยะนี้ เป็นระยะที่ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ จึงจำเป็นต้องป้องกันการแพร่เชื้ออย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อบางรายอาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลย จึงทำให้สูญเสียโอกาสในการพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับยาต้านไวรัส ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม จนนำไปสู่การแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นในเวลาต่อมา

ระยะที่ 2 ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ (Clinical latent infection: Chronic HIV) เป็นการติดเชื้อระยะแฝงที่เชื้อไวรัส HIV อยู่ในร่างกายโดยไม่แสดงอาการใด ๆ (Asymptomatic HIV infection) ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีสภาพร่างกายเป็นปกติเหมือนบุคคลทั่วไป ในระยะนี้ เชื้อ HIV จะแบ่งจำนวนไปเรื่อย ๆ และค่อย ๆ ทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 หรือ T-cells ในระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ให้ลดจำนวนน้อยลงไปเรื่อย ๆ โดยจะมีระดับ CD4 ในร่างกายระหว่าง 200-1000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดต่ำ และเกิดการเจ็บป่วยง่ายขึ้น โดยทั่วไป การดำเนินโรคในระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี ผู้ติดเชื้อที่มีการดำเนินโรคเร็ว (Rapid progressor) อาจใช้เวลาในระยะนี้เพียง 2-5 ปี แต่ในผู้ติดเชื้อที่ร่างกายสามารถควบคุมเชื้อได้ดีเป็นพิเศษ (Elite controller) อาจยืดระยะเวลาการดำเนินโรคในระยะนี้ได้ 10-15 ปี

ระยะที่ 3 ระยะเอดส์เต็มขั้นหรือระยะโรคเอดส์ (Progression to AIDS) เป็นระยะที่การติดเชื้อ HIV ได้พัฒนากลายเป็นโรคเอดส์โดยสมบูรณ์ ผู้ติดเชื้อในระยะนี้จะมีระดับ CD4 ในร่างกายน้อยกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ทำให้ร่างกายอ่อนแอลงอย่างมากจนนำไปสู่การการเกิดโรคแทรกซ้อน และโรคติดเชื้อฉวยโอกาส (Opportunistic infection: Ols)

 

การติดเชื้อ HIV

  • เชื้อ HIV สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสเลือด  น้ำเหลือง น้ำอสุจิ  น้ำในช่องคลอด  ส่วนน้ำลาย เสมหะและน้ำนมมีปริมาณเชื้อ HIV น้อย  สำหรับเหงื่อ ปัสสาวะและอุจจาระแทบไม่พบเลย ทั้งนี้มีช่องทางการติดต่อที่สำคัญ ได้แก่
  • การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เช่น ไม่ได้ใส่ถุงยางอนามัย  ไม่ว่าชายกับชาย ชายกับหญิง หรือหญิงกับหญิง ทั้งทางช่องคลอดและทวารหนัก ก็ล้วนมีโอกาสติดโรคนี้ได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลของการระบาดวิทยาพบว่า มากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อ HIV ได้รับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์
  • ใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ HIV ซึ่งมักพบในกลุ่มผู้ฉีดสารเสพติดเข้าเส้นเลือด
  • การสัมผัสเลือดหรือน้ำเหลืองของผู้ติดเชื้อ HIV ผ่านผิวสัมผัสที่เป็นแผลเปิดหรือรอยถลอก รวมทั้งการใช้ของมีคมร่วมกับผู้ติดเชื้อ HIV โดยไม่ทำความสะอาดอุปกรณ์ให้สะอาดเพียงพอ เช่น  มีดโกนหนวด  กรรไกรตัดเล็บ เข็มสักผิวหนังหรือคิ้ว  เข็มเจาะหู
  • การติดต่อจากแม่สู่ลูก  ทั้งระหว่างตั้งครรภ์  การคลอดและการเลี้ยงดูด้วยนมแม่
  • การรับโลหิตบริจาคที่มีเชื้อ HIV ปนเปื้อน  ซึ่งมีโอกาสน้อยมากในปัจจุบัน เนื่องจากโลหิตที่ได้รับบริจาคทุกขวดต้องผ่านการตรวจหาการติดเชื้อ HIV เพื่อความปลอดภัย

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก : กรมประชาสัมพันธ์

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม