ทารก 18 วัน ติดเชื้อไอกรนเสียชีวิต ตอนนี้มีเด็กติดเชื้อมากถึง 72 ราย

29 พ.ย. 66

ทารก 18 วัน ติดเชื้อโรคไอกรนเสียชีวิต 1 ราย และตอนนี้มีติดเชื้อมากถึง 72 ราย ใน จ.ปัตตานี

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี นายแพทย์อนุรักษ์ สารภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ได้ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 จนถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ขณะนี้จังหวัดปัตตานีมีผู้ป่วยไอกรนแล้ว จำนวน 72 ราย ซึ่งกระจายในหลายอำเภอ และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นเด็กทารกอายุ 18 วัน ร่างกายยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ได้รับเชื้อมาจากผู้อาศัยร่วมภายในบ้าน

โดยโรคไอกรน เป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่งที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย บอร์เดเทลลา เพอร์ทัสซิส หลังติดเชื้อในช่วงแรกจะมีอาการคล้ายเป็นหวัด เช่น ไอ มีไข้ น้ำมูกไหล หลังจากนั้น ผู้ป่วยจะมีอาการไอต่อเนื่องอย่างรุนแรง และมีเสียงไอที่เป็นเอกลักษณ์หรือเสียงดัง  (ไอมีเสียงที่เกิดจากการ หายใจลําบาก) จึงมีอีกชื่อเรียกว่า Whooping Cough เป็นที่มาของชื่อไอกรนในภาษาไทย ในทารกหรือเด็กเล็ก อาจไม่พบอาการไอ แต่จะมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจเป็นหลัก ไอกรนเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน โดยเชื้อสามารถ แพร่กระจายได้จากการไอหรือจาม ทารกและเด็กเล็กจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากที่สุด ซึ่ง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

ซึ่งการป้องกันไอกรนโรคไอกรนเป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน แพทย์จะฉีดวัคซีนรวม คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน โดยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 7 ปี เริ่มฉีด 3 เข็มแรก เมื่อเด็กที่มีอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน และเข็มที่ 4 เมื่อเด็กมีอายุ 18 เดือน จากนั้นควรฉีดวัคซีนกระตุ้น (Booster Dose) เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันหลังฉีด ครบชุด 4 ครั้งแรกแล้ว ตอนอายุ 4-6 ปี และเด็กที่มีอายุมากกว่า 7 ปี ผู้ใหญ่ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้ว แนะนําให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นทุก 10 ปี เนื่องจากวัคซีนที่ได้รับในวัยเด็กจะหมดลงในช่วงวัยรุ่น และในผู้ที่กําลัง ตั้งครรภ์ แพทย์จะแนะนําให้ฉีดวัคซีนในช่วงสัปดาห์ที่ 27 และ 36 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจช่วยปกป้องทารก จากโรคไอกรนในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังการคลอดอีกด้วย

อย่างไรก็ตามแนวโน้มการติดเชื้อยังคงสูงขึ้น สาเหตุหนึ่งเกิดจากการอัตราการรับวัคซีน ของเด็กในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยังน้อยอยู่มาก ทั้งโรคไอกรนและอีกหลาย ๆ โรค เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส