เปิดภาพแสตมป์ตลกแต่ราคาไม่ตลก มูลค่าสูงถึง 200 ล้าน เตรียมจัดแสดงที่งาน POSTiverse

18 พ.ย. 66

เปิดภาพแสตมป์ตลกแต่ราคาไม่ตลก มูลค่าสูงถึง 200 ล้านบาท เตรียมจัดแสดงที่งาน POSTiverse ไปรษณีย์กลางบางรัก 27 พย.นี้! 

ก่อนหน้านี้ไปรษณีย์ไทยได้พาทุกคนไปรู้จักกับแสตมป์ที่แพงที่สุดในโลกกันมาแล้วกับแสตมป์บริติช กายอานาซึ่งถูกขนานนามว่าโมนาลิซาแห่งวงการแสตมป์ วันนี้ไปรษณีย์ไทยจะขอขยับเข้ามาใกล้ทางบ้านเรามากขึ้นกับแสตมป์ที่แพงที่สุดในเอเชียที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในอัญมณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของนักสะสมแสตมป์ทั่วโลก และเป็นแสตมป์ที่แพงที่สุดของเอเชีย โดยแสตมป์ชิ้นนี้มีชื่อว่า แสตมป์มังกร 500 Mon โดยเป็นแสตมป์จากประเทศญี่ปุ่นที่พิมพ์ในปี ค.ศ. 1871 ซึ่งเป็นแสตมป์ที่ถูกพิมพ์กลับหัว! และถูกกล่าวขานว่าเป็นตัวตลกแห่งวงการแสตมป์ แต่กลับมีมูลค่าสูงถึง 200 ล้านบาท จากเดิมในวันออกจำหน่ายมีราคาเพียง 500 Mon เท่านั้น วันนี้ไปรษณีย์ไทยจึงจะขอชวนทุกคนมาไขความลับกันว่าเหตุใด ทำไมแสตมป์ชิ้นนี้ถึงเป็นที่สนใจจากนักสะสมทั่วโลก 

168356

สำหรับแสตมป์มังกร 500 Mon เป็นแสตมป์สีเทาอมเขียว พิมพ์ครั้งแรกวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1871 ซึ่งความพิเศษของแสตมป์ดวงนี้เกิดจากความผิดพลาดในการพิมพ์ราคาบริเวณกลางดวงแสตมป์ ซึ่งถูกพิมพ์กลับหัวด้วยหมึกสีดำ ซึ่งมีเพียงดวงเดียวเท่านั้น โดยแสตมป์ชิ้นนี้ถูกค้นพบในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1953 - 1973 โดย จอห์น ซี. ลินสลีย์ นักสะสมชาวอเมริกัน ซึ่งค้นพบอยู่ในคอลเลคชั่นญี่ปุ่นที่เขาได้รับมา หลังจากนั้นลูกเลี้ยงของเขาได้ส่งแสตมป์ดวงดังกล่าวมาขอออกใบรับรองจากสมาคมตราไปรษณียากร แห่งประเทศญี่ปุ่น (I.S.P.) ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ คือ ดร.วาร์โร อี ไทเลอร์ และขอความเห็นเพิ่มเติมจาก
ดร.ทานิ ทาคาชิ อีกหนึ่งท่าน ผลสรุปออกมาว่าแสตมป์ดวงดังกล่าวเป็นของแท้อย่างแน่นอน แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ใบรับรองดังกล่าวได้สูญหายไปแล้ว แต่ที่บริเวณด้านหลังของดวงแสตมป์ มุมขวาล่างมีลายเซ็นด้วยดินสอคำว่า "ไทเลอร์" ซึ่งเป็นลายเซ็นของ ดร.วาร์โร อี. ไทเลอร์ อยู่ด้วย

ปัจจุบันแสตมป์ดวงดังกล่าวได้ถูกนำมาออกใบรับรองใหม่อีกครั้ง โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของสหพันธ์ตราไปรยณียากรแห่งประเทศญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 2011 และ ฟลอเรียน ไอค์ฮอร์น บีพีพี ในปี ค.ศ. 2023 และถูกนำมาออกประมูลโดย บริษัท เดวิส เฟลด์แมน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยถูกประมูลไปเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 2023 ในราคา 4,400,000 ยูโร ซึ่งหากตีตราเป็นเงินไทยก็มีมูลค่าอยู่ที่ราว 200 ล้านบาทเลยทีเดียว

162824

ทั้งนี้ ขอเชิญผู้ที่สนใจไปชมความงาม และเรื่องราวของแสตมป์ดวงนี้ที่จะถูกนำมาจัดแสดงที่งาน “POSTiverse” 140 ปี ไปรษณีย์ไทย และงานแสดงตราไปรณียากรโลก 2566 ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2566 ณ ไปรษณีย์กลาง บางรัก โดยภายในงานยังสามารถพบกับแสตมป์ที่แพงที่สุดในโลกและแสตมป์สุดแรร์จากทั่วโลกอีกมากมายให้ชาวไทยได้มาเรียนรู้และรับชมความสวยงามของประวัติศาสตร์โลกไปด้วยกัน.

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม