ศรีสุวรรณ จี้ กกต. สอบนายกฯ-เพื่อไทย หาเสียงไม่กู้แต่กำลังจะกู้

15 พ.ย. 66

ศรีสุวรรณ จี้ กกต.สอบนายกเศรษฐา-พรรคเพื่อไทย เคยหาเสียงว่าไม่กู้แต่กลับกู้ผิดหรือไม่

วันนี้ (15 พ.ย.66) เวลา 10.00 น. ที่สำนักงาน กกต.ศูนย์ราชการฯ อาคาร B นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง-นายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อให้ไต่สวนสอบสวนเอาผิดนายกเศรษฐาและพรรคเพื่อไทย กรณีเคยหาเสียงก่อนการเลือกตั้งว่าจะไม่กู้เงินมาใช้ในนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แต่กลับจะเสนอออก พรบ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทมาแจก อันถือได้ว่าเป็นการหลอกลวงหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองตามกฎหมายเลือกตั้ง สส.หรือไม่

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากก่อนการเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น ได้ลงนามในหนังสือที่ พท.0893/2566 เมื่อเดือนเมษายน 2566 ถึง กกต. เรื่อง การกำหนดนโยบายที่ใช้ในการประกาศโฆษณาของพรรคเพื่อไทย ตามที่ พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 57 บังคับไว้ในส่วนของการกำหนดนโยบายที่ต้องใช้จ่ายเงิน ต้องระบุ 3 เรื่อง คือ 1.วงเงินที่ต้องใช้ 2.ที่มาของเงินที่จะใช้ดำเนินการ และ 3.ความคุ้มค่า ประโยชน์ในการดำเนินการ และความเสี่ยง ซึ่งเป็นช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง สส.เป็นการทั่วไปทั้งประเทศนั้น

หนึ่งในนโยบายสำคัญที่พรรคเพื่อไทยได้จัดทำเอกสารชี้แจงไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับกำหนดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านประเป๋าเงินดิจิทัล(Digital Wallet) ผ่านเทคโนโลยี Blockchain วงเงิน 560,000 ล้านบาท โดยระบุที่มาของเงินที่จะต้องใช้ดำเนินการว่า “ใช้การบริหารงบประมาณปกติ และบริหารระบบภาษี” ประกอบด้วย 1)ประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 67 260,000 ล้านบาท 2)ภาษีที่ได้มาจากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย 100,000 ล้านบาท 3)การบริหารจัดการงบประมาณ 110,000 ล้านบาท 4)การบริหารงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาท

ซึ่งในเอกสารดังกล่าว รวมทั้งการโฆษณาหาเสียงและการให้สัมภาษณ์หรือการแถลงชี้แจงนโยบายของพลพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น ต่างยืนยันต่อสาธารณะและสื่อมวลชนมาโดยตลอดว่านโยบายแจกเงินดังกล่าว “ไม่มีการกู้เงิน” มาใช้จ่ายในนโยบายดังกล่าวโดยเด็ดขาด ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากเชื่อมั่นในคำพูด ในการหาเสียง จึงไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้กับพรรคเพื่อไทยจนได้ สส.มาเป็นอันดับ 2

แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 10 พ.ย.66 ที่ผ่านมานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กลับตั้งโต๊ะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและสาธารณะว่าจะออก “พรบ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท” เพื่อนำมาแจกประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปและมีรายได้ไม่เกิน 7 หมื่นบาท/เดือน และมีเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท อันไม่เป็นไปตามการโฆษณาหาเสียงและไม่เป็นไปตามเอกสารการชี้แจงที่ให้ไว้ต่อ กกต.แต่อย่างใด

กรณีดังกล่าว อาจถือเป็นการหลอกลวง หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ตาม ม.73(5)หรือ(1) ประกอบ ม.159 ของ พรป.ว่าด้วยการหาเสียงเลือกตั้ง สส.2561 หรือไม่ ซึ่งอาจเข้าข่ายการหาเสียงเลือกตั้งที่เป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมได้ เป็นหน้าที่และอำนาจของ กกต.ที่จะต้องดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวนตามรัฐธรรมนูญ 60 ม.224 ประกอบ ม.226 และเสนอเรื่องไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาพิพากษาลงโทษตัดสิทธิ์ทางการเมืองตามครรลองของกฎหมายต่อไป นายศรีสุวรรณ กล่าว

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส