ครม.เคาะ 2 มาตรการปล่อยสินเชื่อช่วยชาวนา ยัน ธ.ก.ส.มีสภาพคล่อง

7 พ.ย. 66

 

ครม.เคาะ 2 มาตรการปล่อยสินเชื่อ ดึงราคาข้าวเปลือกหอมมะลิเกือบ 10 ล้าน ใช้งบฯ ราว 10,600 ล้านบาท จุลพันธ์ ยัน ธ.ก.ส. มีสภาพคล่อง 

วันที่ 7 พ.ย. 66 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสัตวแพทย์ ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือชาวนา เนื่องจากราคาข้าวเปลือกหอมมะลิราว 9.5 ล้านตัน ความชื้น 25% ราคาตันละ11,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาเป็นจริง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้เสนอโครงการเพื่อแทรกแซงราคาตลาดเพื่อช่วยเหลือชาวนา 

  1. โครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปี โดยข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้น 25% จะให้สินเชื่อที่ตันละ 12,000 บาท และให้ค่าเก็บรักษาคุณภาพ ระยะเวลา 5 เดือนตันละ 1,500 บาท ดังนั้นหากเกษตรกรที่เก็บรักษาผลผลิตด้วยตัวเองจะได้ เงิน สินเชื่อ 13,500 บาทต่อตัน แต่ในกรณีที่ชาวนาไม่มีที่เก็บต้องไปฝากสถาบันเกษตรหรือสหกรณ์ช่วยเก็บให้ สหกรณ์จะได้เงิน 1,000 บาท ส่วนเกษตรกรได้ 500 บาท โดยมีเป้าหมาย ที่เข้าเปลือกหอมมะลิจำนวน 3 ล้านตัน

 

  1. โครงการสินเชื่อสถาบันการเกษตร เข้าไปแทรกแซงตลาดเพื่อซื้อแข่งในราคานำร่อง สำหรับข้าวเปลือกหอมมะลิความชื้น 25% ตันละ 12,200 บาท เพื่อให้สูงกว่าราคาตลาดและเมื่อนำมาซื้อและขายได้แล้วจะต้องแบ่งกำไรให้กับชาวนา ตันละ 300 บาท เป้าหมาย 1 ล้านตัน 

ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้ใช้งบประมาณราว 10,600 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นสินเชื่อ จำนวน 44,437 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของการแรก ดอกเบี้ย ธ.ก.ส.รัฐบาลช่วยจ่าย แต่ในโครงการที่ 2 ดอกเบี้ย 4.85% รัฐบาลจะช่วย ชดเชย3.85%  ขณะที่สถาบันการเงินจะชดเชยให้ 1% 

  1. โครงการสนับสนุนการจัดการพัฒนาคุณภาพข้าว ซึ่งเดิมตั้งใจว่าจะให้ไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 20 ไร่ หรือ รายนึงไม่เกิน 20,000 บาท โดยไม่เลือกประเภทข้าว จะใช้งบประมาณจ่ายขาดราว 56,000 ล้านบาท แต่โครงการนี้ยังต้องชะลอไปก่อน เนื่องจากเรื่องนี้ยังไม่ได้รับมติเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารจัดการข้าว และยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจนว่า ชาวนาที่ได้รับเงินชดเชยจากน้ำท่วมไปแล้วจะได้รับการช่วยเหลือในครั้งนี้ด้วยหรือไม่ 

ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลเป็นห่วงชาวไร่ชาวนาที่ปลูกข้าวเลี้ยงคนทั้งโลก และพยายามจะดูสูตรต่างๆ สำหรับการใช้มาตรการในปีนี้เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ในส่วนของโครงการสนับสนุนการจัดการพัฒนาคุณภาพข้าวฯ จึงขอให้มีการพูดคุยในรายละเอียดอีกครั้งเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมก.บข. ครั้งหน้าพิจารณาโดยด่วน ก่อนจะดำเนินการตามมติของที่ประชุม แต่ทั้ง 3 กระทรวงได้พูดคุยและเห็นตรงกันว่า จะต้องมีการชี้แจงที่มาที่ไปของโครงการนี้ให้ที่ประชุมก.บข.เข้าใจ  ซึ่งนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ซึ่งกำกับดูแลธ.ก.ส. จะนำเงินมาช่วยดูแลในส่วนนี้ ซึ่งทันทีที่ก.บข. มีมติก็จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เลย 

ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 10 พ.ย.นี้เวลา 14.00 น. จะนำรายละเอียดโครงการที่ 3 นี้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการก.บข. พิจารณาและมีมติ 

นายจุลพันธ์ เปิดเผยว่า กลไกที่รัฐบาลจะดำเนินการจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.ผ่านสหกรณ์ และชาวนาที่มียุ้งฉาง และ 2. ผ่านสหกรณ์โดยตรง รวมแล้วจะสามารถดูดปริมาณข้าวออกจาก ตลาดได้ 4 ล้านตัน ซึ่งมั่นใจว่าจะมีผลต่อราคาข้าวอย่างมีนัยยะสำคัญเพื่อประคองราคาไม่ให้ตกต่ำ รัฐบาลเข้ามาทำหน้าที่ยังไม่ครบ 2 เดือนข้าวที่กำลังจะออกมา มีแนวโน้มว่าราคาจะต่ำลง และชาวนาได้ส่งเสียงสะท้อนมาในส่วนของค่าเก็บเกี่ยวที่มีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพ 

ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ละเลย แต่เนื่องจากกลไกของลูกขราชการจึงต้องใช้เวลา คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ค่าพัฒนาคุณภาพข้าวไร่ละ 1,000 บาทจะเรียบร้อย ซึ่งแน่นอนว่ากลไกการดำเนินโครงการเหล่านี้จะใช้ ธ.ก.ส.เป็นหลัก เพราะมีความพร้อม สภาพคล่องและประสบการณ์เข้าช่วยเหลือในส่วนราคาข้าวเปลือกในตลาดมาตลอดจึงถือว่ามีความมั่นใจได้ ทุกอย่างอยู่ในกรอบวงเงินในการใช้จ่ายตามมาตรา 28 ของ  พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง อยู่ที่ 32% ไม่ต้องปรับกรอบเพดานเพิ่มใดๆ

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม