เปิดความหมาย และที่มา ชื่อเต็มของ “กรุงเทพมหานคร"

27 ต.ค. 66

เปิดความหมาย และที่มา ชื่อเต็มของ “กรุงเทพมหานคร" พร้อมทั้งถอดความเป็นภาษาไทยและแปลเป็นภาษาอังกฤษ

กรุงเทพมหานคร (Krung Thep Maha Nakhon หรือ Bangkok Metropolitan) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า กรุงเทพฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามราชธานีที่ทรงตั้งขึ้นใหม่ดังปรากฏในหนังสือ “พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ” ว่า

“กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้แปลงสร้อยที่ว่า “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์” เป็นดังนี้

“กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”

ซึ่งคำอ่านถูกต้องเป็นดังนี้

“กฺรุงเทบมะหานะคอน อะมอนรัดตะนะโกสิน มะหินทะรายุดทะยา มะหาดิหฺลกพบ นบพะรัดราดชะทานีบูรีรม อุดมราดชะนิเวดมะหาสะถาน อะมอนพิมานอะวะตานสะถิด สักกะทัดติยะวิดสะนุกำปฺระสิด”

istock-1306075341

ราชบัณฑิตยสภา ถอดความเป็นอักษรโรมัน ได้ดังนี้

KRUNGTHEPMAHANAKHON
AMONRATTANAKOSIN
MAHINTHARAYUTTHAYA
MAHADILOKPHOP
NOPPHARATRATCHATHANIBURIROM
UDOMRATCHANIWETMAHASATHAN
AMONPHIMANAWATANSATHIT SAKKATHATTIYAWITSANUKAMPRASIT

ราชบัณฑิตยสภาถอดความเป็นภาษาไทยและแปลเป็นภาษาอังกฤษ ได้ดังนี้

กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา

เมืองของเทวดา มหานครอันเป็นอมตะ
City of Angels Great City of Immortals

มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์

สง่างามด้วยแก้ว 9 ประการ และเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน
Magnificient City of the Nine Gems Seat of the King

อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์

เมืองที่มีพระราชวังหลายแห่ง ดุจเป็นวิมานของเทวดา ซึ่งมีพระวิษณุกรรมสร้างขึ้นตามบัญชาของพระอินทร์

City of Royal Palaces Home of Gods Incarnate
Erected by Visvakarman at Indra’s Behest.

advertisement

ข่าวยอดนิยม