หนูน้อยเคราะห์ร้ายถูก งูเขียวหางไหม้ฉกลิ้น รักษาอยู่ห้อง ICU ใส่เครื่องช่วยหายใจ

15 ต.ค. 66

ชาวเน็ตแห่ให้กำลังใจหนูน้อย โดน "งูเขียวหางไหม้" ฉกลิ้น รักษาอยู่ห้อง ICU หมอต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ญาติแชร์เคสหวังเตือนเป็นอุทาหรณ์

วันที่ 15 ต.ค.66 ชาวออนไลน์พากันตกใจกับเคสของเด็กรายหนึ่งถูก งูเขียวหางไหม้กัดลิ้น ขณะนี้รักษาตัวอยู่ห้อง ICU ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

โดยเรื่องราวอุทาหรณ์ดังกล่าว ถูกโพสต์ลงในกลุ่ม "งูไทย...อะไรก็ได้ all about Thailand snakes" โดยผู้โพสต์ระบุข้อความว่า

"ขออนุญาสอบถามค่ะ
พอดีหลานโดน งูเขียวหางไหม้กัดที่ลิ้น น้องเล่นใต้ต้นไม้ แล้วแลบลิ้นเล่นกัน งูฉกที่ลิ้นพอดีค่ะ ตอนนี้น้องอยู่ ICU หมอใส่เครื่องช่วยหายใจเพราะคอบวม หน้าอกบวม อยากทราบเป็นความรู้ว่า งูเขียวหางไหม้ เคยกัดใครแล้วตายไหมคะ"

ท่ามกลางความเป็นห่วงของเหล่าสมาชิกในกลุ่ม ล่าสุด ญาติของหนูน้อยเคราะห์ร้ายได้คอมเมนต์อัปเดตเพิ่มเติมว่า "อาการน้องตอนนี้ยังคงใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่นะคะ น้องได้รับเซรุ่มเมื่อวาน ส่วนเหตุการณ์จริง เราเองก็ไม่ทราบว่าน้องเล่นยังไงถึงโดนกัด เพราะคนเลี้ยงบอกมาแบบนี้จ้า รอคุณหมอมา จะอัปเดตอาการอีกทีนะคะ"

งูเขียวหางไหม้ ฉกลิ้น

งูเขียวหางไหม้ ฉกลิ้น

สำหรับ งูเขียวหางไหม้ เป็น งูพิษ ต่อระบบเลือดที่พบบ่อยที่สุดในเขต กทม.และปริมณฑล

วิธีสังเกตลักษณะของ งูเขียวหางไหม้ จะมีลำตัวสีเขียว และ ปลายหางสีแดง

จากข้อมูลของเว็บไซต์ หมอชาวบ้าน ระบุว่า งูเขียวหางไหม้กัด หากได้รับพิษน้อย บริเวณที่ถูกกัดจะมีอาการบวมแดงหรือมีเลือดออกในตำแหน่งที่ถูกกัด ไม่มีอาการทางระบบไหลเวียนเลือด

หากได้รับพิษปานกลาง จะมีอาการบวม แดง และมีเลือดออกเพิ่มขึ้น และมีอาการลาม ชีพจรอาจจะเร็ว ความดันอาจจะต่ำเล็กน้อย แต่ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต

แต่หากได้รับพิษมาก จะมีอาการบวม แดงและเลือดออกทั้งอวัยวะส่วนนั้น เช่นทั้งแขนและขา ผู้ป่วยอาจจะมีอาการหัวใจเต้นเร็ว ความดันต่ำ หายใจเร็ว

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนนำผู้ป่วยมาโรงพยาบาล

1. พยายามให้อวัยวะส่วนที่ถูกงูกัดเคลื่อนไหวน้อยที่สุด เพื่อชะลอการดูดซึมพิษงูเข้าสู่ร่างกาย

2. ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ห้ามกรีด ตัด ดูด จี้ไฟ หรือพอกยาบริเวณแผลที่ถูกงูกัดเพราะอาจทำ ให้แผลมีการติดเชื้อได้ รวมทั้งการดูดแผลงูกัดเพื่อช่วยผู้ป่วยเองก็อาจเกิดอันตรายร้ายแรงต่อผู้ดูดได้เช่นกัน

3. ใช้เชือก หรือผ้าขนาดประมาณนิ้วก้อย รัดเหนือแผลที่ถูกกัดแน่นพอให้สอดนิ้วมือได้ 1 นิ้ว (ทุก 15-20 นาที อาจคลายเชือกหรือสายรัดออกประมาณ 1 นาทีจนกว่าจะถึงโรงพยาบาล) การรัดแน่นเกินไปอาจทำให้แผลบวมและเนื้อตายมากขึ้น ถ้าสามารถนำส่งโรงพยาบาลได้เร็วในเวลาน้อยกว่า 30 นาทีก็ไม่ควรรัดเหนือแผล เพราะในรายที่เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติจากการถูกงูกัด ก็อาจยิ่งทำให้แผลมีเลือดออกมากขึ้น

4. นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด และถ้าเป็นไปได้ ก็ควรนำงูที่กัดมาด้วย อย่างไรก็ตามไม่ควรต้องเสียเวลาตามหางูแต่อย่างใด



advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ