ดูดวง หมอดูแนะทำพิธีสะเดาะเคราะห์ แต่ชีวิตไม่ดีขึ้นแจ้งจับฐานฉ้อโกงได้

10 ต.ค. 66

ผิดฐานฉ้อโกง! จ้างหมอดูมาสะเดาะเคราะห์แต่ชีวิตไม่ดีขึ้น เป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ สามารถเอาแจ้งความดำเนินคดีได้

เมื่อมีปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้ ไม่ว่าจะการงานติดขัด ชีวิตรักไม่รุ่ง หรือการเงินไม่คล่องตัว หลายคนมักเสาะหาที่พึ่งทางใจ ไม่ว่าจะเป็นการไหว้พระทำบุญ หรือแม้แต่การหาผู้ช่วยอย่าง หมอดู ให้ช่วยหาทางออกจากดวงชะตา หรือ ซินแซ แม่หมอ ร่างทรง มาช่วยสะเดาะเคราะห์ให้ชีวิตราบรื่นขึ้น 

แต่รู้หรือไม่ว่า เงินของเราที่เสียไปกับการทำพิธีต่างๆ ต้องไม่สูญเปล่า หากต้องเสียเงินไปเป็นจำนวนหนึ่งแล้วเพื่อสะเดาะเคราะห์แต่ชีวิตก็ยังย่ำแย่ไม่ดีขึ้น นั่นหมายความว่า คุณอาจกำลังถูกกลุ่มมิจฉาชีพอ้างอิทธิฤธิ์ดูดเงินจากกระเป๋าแทนที่จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น และเมื่อเป็นเช่นนี้ ลูกดวงที่ตกอยู่ในฐานะของ ผู้เสียหาย จึงสามารถแจ้งความเพื่อดำเนินคดีและกลุ่มมิจฉาชีพที่หลอกลวงด้วยการอ้างพิธีได้ 

โดยเว็บไซต์ของ ทนายใกล้ตัว ได้แชร์ข้อมูลการแจ้งความเอาผิดกลุ่มมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในคราบของหมอดู ซึ่งระบุแนวทางคำพิพากษาศาลฎีกา สำหรับเอาผิดไว้ดังนี้

จ้างหมอดูมาสะเดาะเคราะห์แต่ชีวิตไม่ดีขึ้น “ผิดฉ้อโกงประชาชน” แจ้งความดำเนินคดีกับหมอดูได้!

แม้ว่าความเชื่อในเรื่องโชคลางและพิธีกรรมทางศาสนาจะเป็นเรื่องเฉพาะตัว แต่ก็ต้องยอมรับว่าในประเทศไทยยังมีมิจฉาชีพจำนวนหนึ่ง ที่อาศัยความเชื่อ และความไม่รู้ หากินโดยวิธีทุจริต หลอกลวงผู้เสียหายจนร่ำรวย มีทั้งทรัพย์สินเงินทองและคนบูชา

กรณีดังกล่าวนี้ หากบุคคลที่อ้างตนเองว่ามีความรู้ความสามารถพิเศษ ไม่ได้มีความสามารถเสริมดวง เปลี่ยนแปลงโชคชะตาดังกล่าว แต่กับอวดอ้างความสามารถตัวเอง เพื่อเรียกรับเอาเงินจากผู้เสียหาย ก็ย่อมเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง ย่อมเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง และหากบุคคลดังกล่าว ได้หลอกลวงบุคคลทั่วไป ไม่ได้เฉพาะเจาะจงถึงกลุ่มบุคคลใดเป็นพิเศษ ก็ยังเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนอีกด้วย บรรดาผู้ถูกหลอกลวงที่ต้องสูญเงินไปเพราะมิจฉาชีพดังกล่าวก็ย่อมสามารถแจ้งความ หรือฟ้องดำเนินคดีกับชินแสหรือหมอดูได้ ตามแนวทางคำพิพากษาศาลฎีกา ดังต่อไปนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1477/2549

จำเลยได้พูดบอกผู้เสียหายแต่ละคนว่าจำเลยสามารถทำพิธีสะเดาะเคราะห์รดน้ำมนต์ให้ผู้เสียหายทั้งแปดเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 5 ซึ่งมีปัญหาเรื่องเงินหรือหนี้สินสามารถปลดหนี้สินและขายที่ดินหรือตึกได้ ส่วนผู้เสียหายที่ 6 ถึงที่ 8 ซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับการเจ็บป่วยปวดที่ขาและปวดเมื่อยที่เข่าจำเลยก็สามารถทำให้หายปวดหายเมื่อยได้ ทั้งที่ความจริงจำเลยไม่สามารถกระทำการดังกล่าวได้ ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 8 หลงเชื่อจึงได้มอบเงินให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยนำเงินไปซื้อแพะมาทำพิธีบวงสรวง การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการหลอกลวงผู้เสียหาย เมื่อการหลอกลวงดังกล่าวได้กระทำต่อผู้เสียหายทั้งแปด นายสมศักดิ์รวมทั้งบุคคลอื่นตามแต่วาระและโอกาสโดยไม่จำกัดประเภทบุคคล และหลอกลวงตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ที่บ้านของนาง ม. บ้านของผู้เสียหายที่ 1 บ้านของผู้เสียหายที่ 6 การกระทำของจำเลยเป็นการฉ้อโกงประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2746/2530

จำเลยทั้งสองทำน้ำมันมนต์ให้แก่ประชาชนโดยอ้างว่ารักษาโรคได้และเก็บเงินจากประชาชนที่มารับน้ำมนต์ไปคนละ 12 บาทเป็นค่าครู ซึ่งจำเลยทั้งสองก็รู้ว่าน้ำมนต์นั้นไม่ใช่ยารักษาโรค แต่จำเลยทั้งสองกลับอวดอ้างว่าเด็กชาย ว. บุตรของจำเลยทั้งสองเป็นอาจารย์น้อย เป็นคนมีบุญ เทพให้มาเกิดทำนองว่าเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าน้ำมนต์นั้นศักดิ์สิทธิ์รักษาโรคได้อันเป็นการหลอกลวงประชาชนเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส