คิกออฟ! แก้รัฐธรรมนูญ เปิดรายชื่อ 35 อรหันต์ คกก.ศึกษาประชามติแก้รัฐธรรมนูญ

3 ต.ค. 66

คิกออฟ! แก้รัฐธรรมนูญ เปิดรายชื่อ 35 อรหันต์ คกก.ศึกษาประชามติแก้รัฐธรรมนูญ พร้อมเริ่มงานทันที ลั่นต้องให้เสร็จภายใน 4 ปี 

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 3 ต.ค. 66 ที่ทำเนียบรัฐบาล นาย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าแนวทางการ แก้ไขรัฐธรรมนูญว่า 

ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนได้ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในการรวบรวมบุคคล อาจช้าไปนิดหนึ่ง เพราะเป็นการสรรหาที่ต้องคุยหลักการร่วมกันก่อน ว่าเราจะร่างรัฐธรรมนูญ โดยทำประชามติจากประชาชนก่อน และไม่แตะต้องหมวด 1 หมวด 2 และมาตราที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และ การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องแล้วเสร็จภายใน 4 ปีที่เราเป็นรัฐบาล 

นาย ภูมิธรรม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ต้องมีการทำกฎหมายลูกให้เสร็จ เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งใหม่ ต้องผ่านกติกาใหม่ ที่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน เราคาดหวังว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเร่งรีบที่สุดเท่าที่เร่งรีบได้ 

ดังนั้นในวาระแรกที่ตนไปสรรหาบุคคลต่างๆ นั้น เราสรรหาบนพื้นฐานกติกาก่อน เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยให้มากที่สุด เดิมตนจะตั้ง 30 คน แต่คิดว่ายังไม่ครอบคลุม จึงเป็น 35 คน โดยคณะกรรมการชุดนี้ หลังจากเริ่มทำงานจะไปพบตัวแทนกลุ่มวิชาชีพต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการเป็นประชาธิปไตย เราจะไปคุยกับตัวแทนให้กว้างขวางที่สุด และคณะกรรมการชุดนี้ มีตัวแทนจาากพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน 

นาย ภูมิธรรม กล่าวว่า วันนี้ตนได้เสนอนายกฯ และมีการลงนามเรียบร้อย สำหรับรายชื่อคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 35 คน ได้แก่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ เป็น ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็น รองประธานกรรมการคนที่ 1 นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็น รองประธานกรรมการคนที่ 2 นายนิกร จำนง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นกรรมการและโฆษกคณะ 

ส่วนคณะกรรมการฯ ได้แก่

  • พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ
  • นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษานายกฯ
  • พล.อ.ชัชวาลย์ ขำเกษม เป็นตัวแทนทหาร
  • พล.ต.อ.สุเทพ เดชรักษา อดีต รองผบ.ตร.
  • พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีต รอง ผบ.ตร. เป็นตัวแทนตำรวจ
  • นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักกิจกรรมและเคลื่อนไหว
  • นายศุภชัย ใจสมุทร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย
  • นายวิรัตน์ วรศสิริน พรรคเสรีรวมไทย
  • นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท นักเคลื่อนไหวทางการเมือง
  • นายวิเชียร ชุบไทสง ประธานสภาทนายความ
  • นายวัฒนา เตียงกูล จากพรรคเพื่อไทย
  • นายยุทธพร อิสรชัย ตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ
  • นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

 

  • นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ
  • นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา ตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ
  • นายประวิช รัตนเพียร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง
  • นายนพดล ปัทมะ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย
  • นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ
  • นายธงชัย ไวยบุญญา ประธาน สร.กปภ. 
  • นายเทวัญ ลิปตพัลลภ ตัวแทน พรรคชาติพัฒนากล้า
  • นายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์
  • นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย
  • นายชาติพงษ์ จีระพันธุ อดีตรองอัยการสูงสุด เป็นตัวแทนอัยการ
  • นายชนะโรจน์ เทียนธนะวัฒน์

 

  • นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี ตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ
  • น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
  • นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ
  • ผู้แทนพรรคก้าวไกล
  • ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
  • นายนพดล เภรีฤกษ์ รองเลขาธิการกฤษฎีกา ตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ
  • นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกฯ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ 

เมื่อถามว่า หากไม่มีคณะกรรมการในส่วนของพรรคก้าวไกลจะทำอย่างไร นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนก็ยังรอ คิดว่าการมาร่วมกันในกรอบรัฐธรรมนูญที่ชัดเจนควรระดมมาจากทุกฝ่าย แต่สมมติหากไม่พร้อมหรือไม่สะดวกใจ เราก็มีวิธีทำให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นได้ เพื่อหาข้อสรุปให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ ส่วนจะใช้ ส.ส.ร.ที่มาจาการเลือกตั้งหรือไม่นั้น ก็ต้องดูข้อดีข้อเสีย เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เราต้องมาคุยกัน ส่วนจะทำประชามติกี่ครั้งต้องดูกฎหมายให้รอบคอบ แต่เราอยากเซฟงบประมาณให้มากที่สุด เพราะทำประชามติแต่ละครั้งใช้งบประมาณมากถึง 4-5 พันล้านบาท หากข้อกฎหมายสามารถวิเคราะห์ ตีความว่าทำก่อนและทำหลังประมาณ  2 ครั้งก็จะไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท ส่วนคำถามประชามติเป็นภาระหน้าที่ของที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการต่อไป เพื่อให้เปิดประชาธิปไตยมากที่สุด

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส