3 รมว.เกษตรฯ-มหาดไทย แท็กทีมลงพื้นที่ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมอุบลราชธานี

30 ก.ย. 66

3 รัฐมนตรีเกษตรฯ-มหาดไทย แท็กทีมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี สั่งเร่งระบายน้ำ พร้อมหาแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างจริงจัง

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยของไทย และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำ สถานการณ์อุทกภัย พร้อมพบปะประชาชนและมอบถุงยังชีพ ข้าวสารบรรจุถุง หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) จำนวน 15 ราย เวชภัณฑ์ถุงยังชีพและหญ้าพระราชทาน แก่เกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ และน้ำหมักชีวภาพ ณ สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมือง และหอประชุมประชาวาริน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

383981842_813377497460494_384

จังหวัดอุบลราชธานีได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้นในพื้นที่ เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค – 29 ก.ย. 66 จำนวน 1,999.8 มิลลิเมตร และในฤดูฝนตั้งแต่เดือน ก.ค. - ก.ย. 66 มีฝนตกสะสม 1,414.4 มิลลิเมตร ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 66) ที่สถานีวัดน้ำ (แม่น้ำมูล) M.7 อ.เมืองอุบลราชธานี มีระดับน้ำอยู่ที่ 112.70 ม. หรือสูงกว่าตลิ่งประมาณ 70 เซนติเมตร เพิ่มขึ้นจากวานนี้เล็กน้อย มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,718 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

คาดการณ์ว่าระดับน้ำในแม่น้ำมูลจะขึ้นสูงสุดในวันที่ 2 ต.ค. 66 ที่ระดับไม่เกิน 112.90 ม. หรือสูงกว่าตลิ่งประมาณ 90 เซนติเมตร ทำให้บ้านเรือนที่อยู่อาศัยของประชาชน และพื้นที่การเกษตรจำนวน 9 อำเภอในจังหวัดอุบลราชธานีได้รับผลกระทบ ได้แก่ อำเภอม่วงสามสิบ วารินชำราบ เดชอุดม เมืองอุบลราชธานี ตระการพืชผล เหล่าเสือโก้ก ดอนมดแดง เขื่องใน และตาลสุม จำนวน 56 ตำบล 296 หมู่บ้าน/ชุมชน 10,572 ครัวเรือน แยกเป็น ด้านการดำรงชีพ ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ คือ อำเภอเมืองอุบลราชธานี และอำเภอวารินชำราบ จำนวน 3 ตำบล 26 ชุมชน/หมู่บ้าน 913 ครัวเรือน 3,218 คน ราษฎรอพยพ 18 ชุมชน 301 ครัวเรือน 1,079 คน แยกเป็นจุดพักพิงชั่วคราว 15 จุด 269 ครัวเรือน 997 คน พักบ้านญาติ 32 ครัวเรือน 85 คน

384270019_813377747460469_492

ด้านการเกษตร พื้นที่การเกษตร ได้รับผลกระทบ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอม่วงสามสิบ วารินชำราบ เดชอุดม เมืองอุบลราชธานี ตระการพืชผล เหล่าเสือโก้ก ดอนมดแดง เขื่องใน และตาลสุม แบ่งเป็น ด้านพืช ได้รับผลกระทบในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอม่วงสามสิบ วารินชำราบ เดชอุดม เมืองอุบลราชธานี ตระการพืชผล เหล่าเสือโก้ก ดอนมดแดง เขื่องใน และตาลสุม รวมจำนวน 47 ตำบล 204 หมู่บ้าน เกษตรกรผู้ประสบภัยฯ จำนวน 6,793 ครัวเรือน พื้นที่ประสบภัยที่คาดว่าจะเสียหายรวมทุกชนิดพืช จำนวน 46,387.75 ไร่ แบ่งเป็น 1) ข้าว จำนวน 44,993 ไร่ 2) พืชไร่และพืชผัก จำนวน 724.25 ไร่ และ 3) ไม้ผลไม้ยืนต้น และอื่น ๆ จำนวน 670.50 ไร่ วงเงินที่คาดว่าจะให้ความช่วยเหลือ 64,438,819 บาท โดยประมาณการตามหลักเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือฯ

ด้านประมง ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอดอนมดแดง ม่วงสามสิบ รวม 2 ตำบล 5 หมู่บ้าน เกษตรกร 22 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 25.70 ไร่ และ ด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ จำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี ม่วงสามสิบ วารินชำราบ และตระการพืชผล รวมพื้นที่ 8 ตำบล 17 หมู่บ้าน 8 ชุมชน เกษตรกรได้รับผลกระทบ 244 ราย การอพยพสัตว์ ประกอบด้วย โค 994 ตัว กระบือ 434 ตัว สุกร 161 ตัว ไก่พื้นเมือง 5,972 ตัว ไก่ไข่ 12 ตัว ไก่เนื้อ 1 ตัว เป็ดไข่ 8 ตัว เป็ดเนื้อ 2,917 ตัว แพะ 2 ตัว นกกระทา 4 ตัว ห่าน 1 ตัว รวม 10,506 ตัว และแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ได้รับความเสียหาย จำนวน 71 ไร่

384502444_813377557460488_233

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ได้ใช้อาคารชลประทานทางตอนบนของแม่น้ำชี (เขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง) และแม่น้ำมูล (เขื่อนราษีไศล) เพื่อหน่วงน้ำและผันเข้าระบบชลประทาน นำไปเก็บไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า ส่วนตอนกลางจะเร่งระบายน้ำผ่านเขื่อนหัวนา เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร และเขื่อนธาตุน้อย ก่อนจะเร่งระบายน้ำผ่านเขื่อนปากมูลลงสู่แม่น้ำโขงในอัตรา 3,372.5 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังต่ำกว่าระดับแม่น้ำมูลประมาณ 66 เซนติเมตร ทำให้การระบายน้ำยังคงทำได้ดี นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ รวมทั้งร่วมบูรณาการกับกองบิน 21 มณฑลทหารบกที่ 22 และชาวบ้าน เสริมแนวกระสอบทรายจำนวน 4,000 ใบ อีกทั้งยังได้จัดเตรียมเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ กรมชลประทานยังคงเฝ้าติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดในช่วงปลายฤดูฝน พร้อมปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน และ 3 มาตรการ (เพิ่มเติม) เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงทุกจุด จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรงเกษตรและสหกรณ์

384266467_813377474127163_291

“นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำที่จังหวัดอุบลราชธานีจึงได้สั่งการให้หามาตรการหรือแผนรองรับสถานการณ์น้ำท่วมที่อุบลราชธานีและอำนาจเจริญ โดยต้องมีการบูรณาการการทำงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ พร้อมกำชับว่าจะต้องมีแผนในการแก้ปัญหาอย่างเอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายกรมชลประทานหาเร่งหามาตรการในการแก้ไขปัญหาและเร่งระบายน้ำให้เร็วที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว

advertisement

ข่าวยอดนิยม