กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เตือนเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่

23 ก.ย. 66

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เตือนเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่

ตามประกาศ ประจำวันที่ 23 กันยายน 2566 ดังนี้

  1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 20/2566 ลงวันที่ 21 กันยายน 2566 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง และอ่างเก็บน้ำที่มีความเสี่ยง ในช่วงวันที่ 25 – 30 กันยายน 2566 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำ พบว่าร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง ภาคตะวันออก โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคใต้ พบว่ามีพื้นที่เฝ้าระวัง ดังนี้

  1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม ในบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด ในบริเวณพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ตจังหวัดกระบี่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดสตูลจังหวัดตรัง จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา และจังหวัดนครศรีธรรมราช
  2.  พื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ริมแม่น้ำแควน้อย จังหวัดพิษณุโลก แม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ลำน้ำก่ำ จังหวัดนครพนม ลำเซบาย จังหวัดยโสธร แม่น้ำลำปาว อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ลำน้ำยัง อำเภอโพนทอง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด แม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี แม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง และแม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ
  3.  เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อ่างเก็บน้ำน้ำพุง อ่างเก็บน้ำน้ำอูน และหนองหาร อ่างเก็บน้ำลำปาว อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้ม เพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ
  1. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566

กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการลงพื้นที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 10 นิ้ว เพื่อสูบระบายน้ำท่วมขังในบริเวณวัดแก้วพิจิตร พระอารามหลวง ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี

  1. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 20-21 กันยายน 2566 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) และองค์การบริหารส่วนตำบลหนองมะเขือ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำ ภายใต้โครงการการเสริมสร้างขีดความสามารถองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำ ครั้งที่ 3 ณ ตำบลหนองมะเขือ อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น โดยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ ทักษะการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน และการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการติดตามสถานการณ์น้ำเบื้องต้น ความรู้พื้นฐานด้านภูมิสารสนเทศ การจัดทำผังน้ำ บัญชีน้ำ สมดุลน้ำ แนวทางฟื้นฟูพัฒนาแหล่งน้ำ ตัวอย่างความสำเร็จการจัดการน้ำชุมชนด้วยตนเอง

การสมัครเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำ การวางแผนจัดการน้ำ และการเสนอโครงการพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการของบประมาณ และช่องทางติดตามการดำเนินโครงการที่ชุมชนเข้าถึงได้ โดยมีการแบ่งกลุ่มปฏิบัติ แลกเปลี่ยนแนวคิด และวางแผนร่วมกัน ด้วยข้อมูลจริงของชุมชน การสร้างต้นแบบการจัดการน้ำชุมชนร่วมกันในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่แข็งแรง ในการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในพื้นที่นำร่องทั้ง 4 จังหวัด กระตุ้นการตระหนักรู้ บทบาทหน้าที่สำคัญ ในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ผ่านการเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม เกิดความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายร่วม

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม