ดีเอสไอพบ'ธุรกิจกำนันนก'เข้าข่ายฮั้วประมูล 2 โครงการใหญ่

13 ก.ย. 66

ดีเอสไอ พบ ธุรกิจกำนันนก เข้าข่ายฮั้วประมูล 2 โครงการใหญ่ จ่อรับทำเป็นคดีพิเศษ มูลค่าโครงการหลักหลายร้อยล้านบาท

ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือกองฮั้วประมูล กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ได้กำหนดเครือข่ายกำนันนก พบว่ามีธุรกิจรับงานของรัฐ จำนวน 2 บริษัท คือ ป.พัฒนารุ่งโรจน์ ก่อสร้าง จำกัด และบริษัทรวีกนก ก่อสร้าง จำกัด ซึ่งการตรวจสอบจากแหล่งข้อมูลทั้งหมด พบว่าบริษัทดังกล่าวได้รับงานจากภาครัฐรวม 1,544 โครงการ มูลค่า 7,500 ล้านบาท ที่ทำสัญญาจริง 6,900 ล้านบาท

เมื่อตรวจสอบโครงการทั้งหมด พบว่า บริษัทรวีกนก ก่อสร้าง มีโครงการตั้งแต่ 30 ล้านขึ้นไป 2 โครงการ ส่วน ป.พัฒนารุ่งโรจน์ ก่อสร้าง มีจำนวน 18 โครงการ ซึ่งการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น พบข้อพิรุธสงสัยใน 2 โครงการ คือ โครงการก่อสร้างทางหลวง หมายเลข 375 ต่อเนื่อง 376 มีมูลค่างบประมาณ 350 ล้านบาท และ 300 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีข้อมูลอยู่ในระดับค่อนข้างดี เพราะมีการแจ้งข้อมูลทางลับว่ามีการกระทำเช่นนั้นจริง ซึ่งมีข้อพิรุธหลายประเด็น อาจเข้าข่ายกระทำความผิดเป็นการสมยอมราคากัน อธิบดีดีเอสไอจึงกำชับให้เร่งรัดตรวจสอบและปราบปรามผู้มีอิทธิพล คาดว่าจะรับเป็นคดีพิเศษได้ในสัปดาห์ โดยจะทำทั้งหมด 20 โครงการ นำร่อง 2 โครงการแรกก่อน สัปดาห์หน้าจะรับเป็นคดีพิเศษได้

ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวว่า โครงการที่เข้าข่ายกระทำผิด เป็นโครงการสร้างทางหลวง หมายเลข 375 ของกรมทางหลวง ตั้งงบประมาณไว้ที่ 300 ล้านบาท ราคากลาง 290 ล้านบาท โดยมีการประมูลอยู่ที่ 240 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ค่อนข้างต่ำมาก หรือเรียกว่าฟันราคา ซึ่งทั้ง 2 โครงการใกล้เคียงกัน คนได้งานเป็นกลุ่มเดียวกัน คนที่มาซื้อซองจำนวนมากก็เป็นกลุ่มใกล้เคียงกัน หนึ่งในผู้ซื้อซองอาจจะได้รับผลประโยชน์

ร.ต.อ.สุรวุฒิ อธิบายว่า ลักษณะของผู้จัดฮั้วประมูลในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดจะเป็นกลุ่มของตัวเอง เรียกว่าบ้านเล็กบ้านใหญ่ ซึ่งกำนันนก มีลูกมือข่มขู่คุกคามไม่ให้คนเข้ามาประมูล เช่นเดียวกับในอดีตปี 2542 ยกตัวอย่างกรณีมีกลุ่มคนกีดกัน อุ้มคนที่จะไปซื้อซองประมูลออกมา

ส่วนปัจจุบันใช้ระบบจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) เป็นการกรอกข้อมูลในระบบ ซึ่งมีเครือข่ายรับรู้ว่าใครซื้อซองบ้างแล้วใช้วิธีกีดกันด้วยวิธีใดก็ตาม เพราะโครงการนี้ มี 32 รายยื่นซอง แต่ Bidding เพียง 3 ราย จึงฝากว่าผู้ที่ถูกเรียกมาให้ข้อมูลในสัปดาห์หน้า หากให้การเป็นประโยชน์จะถูกกันไว้เป็นพยาน เบื้องต้นพบว่ามีผู้ถูกโทรศัพท์มาข่มขู่ไม่ให้ยื่นซองประมูลแต่หากให้การไม่เป็นประโยชน์อาจเป็นการสมยอม เพราะจะตรวจสอบเส้นทางการเงินและข้อมูลการใช้โทรศัพท์ด้วย

สำหรับกรณีความผิดของผู้เกี่ยวข้องในการฮั้วประมูล คือ สมยอมกันทำให้รัฐขาดทุน และรับผลประโยชน์ ส่วนผู้ที่ข่มขู่จะมีความผิดด้วยเช่นกัน

เบื้องต้น การตรวจสอบโครงการดังกล่าว ยังไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ