เปิดไทม์ไลน์ “ทักษิณ ชินวัตร” กลับถึงไทยแล้วไปไหนต่อ?

22 ส.ค. 66

“ทักษิณ ชินวัตร” กลับถึงไทยในรอบ 17 ปี พร้อมเปิดกระบวนการทางกฎหมาย และเส้นทางการดำเนินคดี

ประวัติ ทักษิณ ชินวัตร

ทักษิณ ชินวัตร เกิด 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวน 10 คน ทักษิณเติบโตขึ้นในหมู่บ้านในอำเภอสันกำแพงจนอายุ 15 ปี ระหว่างนั้นเขาช่วยเหลือกิจการร้านกาแฟและสวนส้มของครอบครัว รวมทั้งขายกล้วยไม้ เมื่ออายุได้ 16 ปี ช่วยบิดาดำเนินการโรงภาพยนตร์ของครอบครัว จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10 และโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 26 ก่อนได้ทุนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในสาขากระบวนการยุติธรรมไปศึกษาที่ประเทศสหรัฐฯ จนจบปริญญาเอก เขาสมรสกับคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ หลังลาออกจากราชการตำรวจ ในปี พ.ศ. 2523 และมีบุตรด้วยกัน 3 คน ได้แก่

  1. พานทองแท้ ชินวัตร
  2. พินทองทา ชินวัตร
  3. แพทองธาร ชินวัตร

น้องสาวคนสุดท้อง ชื่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าสู่การเมืองในปี พ.ศ. 2554 เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ต่อมาได้รับลงมติจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นนายกรัฐมนตรี

254817

ปี 2537 ทักษิณเข้าสู่วงการเมืองสังกัดพรรคพลังธรรม โดยการชักนำของพลตรี จำลอง ศรีเมือง ต่อมาก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ในปี 2541 หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ปี 2544 พรรคไทยรักไทยได้รับเสียงข้างมากในสภา จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยแรก นโยบายเด่นของเขา ได้แก่ การขยายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การลดความยากจนและลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการประกาศสงครามยาเสพติด ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลามโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท เขาดำรงตำแหน่งสมัยแรกจนครบวาระสี่ปี ผลการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปปี 2548 ทำให้ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ด้วยคะแนนเสียงสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

วันที่ 19 กันยายน 2549 คณะรัฐประหารที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกเวลานั้นก็ประกาศยึดอำนาจจากทักษิณ ขณะที่เจ้าตัวเดินทางไปประชุมที่สหรัฐฯ และแต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ คนใหม่ พร้อมให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จนต่อมากลายเป็นรัฐธรรมนูญ 2550

ทั้งนี้ ทักษิณ ชินวัตร เคยกลับประเทศไทยเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 จนเป็นที่มาแห่งภาพประวัติศาสตร์ นายทักษิณ ชินวัตร ก้มกราบแผ่นดินเมื่อเดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิ

 993095

กระบวนการทางกฎหมายเมื่อทักษิณถึงไทย

ทันทีที่วันนี้ 22 ส.ค.2566 “นายทักษิณ ชินวัตร” เดินทางกลับถึง สนามบินดอนเมือง ประเทศไทย มีกระบวนการในการดำเนินการดังนี้

โดยเมื่อมาถึงสนามบินดอนเมืองแล้ว เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จะแสดงหมายจับเพื่อพาตัวเขาไปยังศาลฎีกา สนามหลวง ศาลฎีกา สนามหลวง จะให้ทักษิณรับทราบหมายจับ และอ่านคำพิพากษาแต่ละคดีให้เขาฟังโดยย่อ ก่อนออกหมายขังเพื่อส่งตัวต่อให้กรมราชทัณฑ์  โดยข้อมูลจากเอกสารของกองบัญชาการตำรวจนครบาลระบุว่า ทักษิณจะถูกพาตัวไปที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ

ภายหลังจากที่ถูกนำตัวเข้าเรือนจำพิเศษ ต้องเข้าสู่ระบบคัดกรองโรคตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ และถูกกักตัวเป็นเวลา 10 วันเพื่อตรวจหาเชื่อไวรัส COVID-19 ทักษิณสามารถทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษตั้งแต่วันแรก เนื่องจากเป็นผู้ต้องขังสูงอายุ

 161984

คดีความ ทักษิณ ชินวัตร

  1. คดีทุจริต “หวยบนดิน” หรือสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยศาลฎีกาพิพากษาเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2562 ให้จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา (หมดอายุความ 6 มิ.ย.2572)
  2. คดีเอ็กซิมแบงก์ ปล่อยเงินกู้เมียนมา 4,000 ล้านบาท เอื้อประโยชน์บริษัทไทยคม และบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โทษจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ในวันที่ 23 เมษายน 2562 (หมดอายุความ 23 ก.ย. 2572)
  3. คดีให้นอมินีถือหุ้น ชินคอร์ป ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา  (หมดอายุความ 30 ก.ค. 2573)

ข้อมูลอ้างอิงจาก : สถาบันพระปกเกล้า,ThaiPBS, The MATTER,Wikipedia

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม