สธ. วอนอย่าด้อยค่าคนทำงาน ชี้ ไทย เป็นชาติต้นแบบแก้ โควิด 19

9 ส.ค. 66

สธ. แจง WHO ยก ไทย เป็นชาติต้นแบบ บริหารจัดการ โควิด 19 วอนอย่าด้อยค่าคนทำงาน ขอม็อบฝึกเรียนรู้ เลิกโกหก โหนการเมือง

วันที่ 9 ส.ค. 66 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จ.นนทบุรี นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ระดับ 11 หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง ในฐานะ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง กล่าวหาว่า รมว.สาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขว่าเป็นฆาตกรโควิด 19 ล้มเหลว ในการจัดการวิกฤตโรคระบาดว่า 

เป็นการให้ความเห็นโดยมีธงทางการเมืองชักนำ ไม่ได้มองข้อมูลเป็นจริง ซึ่งการจะวัดความสำเร็จ หรือล้มเหลว ต้องเปรียบเทียบไทยกับทั่วโลก ซึ่งต่างก็เผชิญกับวิกฤตครั้งนี้เหมือนกัน ทั้งนี้จากการเปรียบเทียบที่อัตราการสูญเสียต่อจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดทั่วโลกอยู่ที่ 1% ขณะที่ไทยอยู่ที่ 0.7% และไทยสามารถเซฟชีวิตผู้ป่วยได้มากกว่า 4.6 ล้านชีวิต 

นพ.รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทย การสูญเสียต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานโลก เพราะเรามีระบบการบริหารจัดการที่ดีกว่าทั่วโลก ตรงนี้ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมด้วยช่วยกัน โดยเฉพาะการทำงานหนักที่มาจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งไม่ควรถูกกลุ่มการเมืองด้อยค่าความพยายามนั้น แล้วใช้คำเพียงไม่กี่คำ ทำให้ทุกอย่างดูล้มเหลวไปเสียหมด ทั้งที่ความจริง ความพยายามของคนทำงานนั้น ไม่สูญเปล่าแต่อย่างใด 

นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ประเทศไทยที่น้องๆ มองว่าจัดการโควิด 19 ไร้ประสิทธิภาพ คือประเทศเดียวกับที่ WHO ยกให้เป็นชาติต้นแบบการบริหารจัดการสถานการณ์ที่ทั่วโลก ต้องใช้เป็นตัวอย่าง คือประเทศที่นานาชาติ ยกทีมงานเข้ามาศึกษาดูงานในประเด็นของความสามารถในการกดยอดความสูญเสีย ทั้งที่เป็นประเทศเล็ก ไม่ได้ร่ำรวย หรือมีทรัพยากรมากมายแต่อย่างใด เป็นประเทศซึ่งเป็นคลังวัคซีนของภูมิภาค 

นพ.รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า ไทยเป็นประเทศที่อาเซียนไว้วางใจจากผลงานกระทรวงสาธารณสุข ให้ตั้งสำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียน ACPHEED เพื่อประสานงานประเทศอาเซียน รับมือภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ ไทยคือ ประเทศที่สถาบันดังระดับโลกอย่างจอห์น ฮอปกิน ยกให้มีระบบสาธารณสุขเข้มแข็งที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย สถาบันคลังสมองของสหรัฐฯ หรือ Atlantic Council ให้คะแนนระบบสาธารณสุขไทยที่ 90.9 คะแนน ซึ่งถือว่าสูงมาก 

“ความสูญเสียที่เกิดขึ้น เราทุกคนต่างรู้สึกเสียใจ แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันก็ทำให้เห็นว่า ในภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไทยมีระบบการบริหารจัดการที่ดีขนาดไหน หากต้องเทียบกับนานาชาติ ส่วนคนที่จ้องจะด้อยค่าระบบ หมอก็คงไปห้ามไม่ได้ แต่อยากให้รู้ว่า ถ้ากลุ่มคนที่ด้อยค่านั้น ได้มีโอกาสใช้ความคิดเทียบข้อมูลไทยกับทั้งโลก เราจะมีคำตอบที่แตกต่างออกไป ขอเตือนในฐานะคนทำงานว่า ขอให้มีสติ มีปัญญา ฝึกเรียนรู้ รับรู้ความจริง ข้อมูลจริง เลิกโกหก บิดเบือน พูดความเท็จ โปรดช่วยกันสื่อสารอย่างมีมารยาทดีกว่า” นพ.รุ่งเรือง กล่าว

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส