โรคไข้เลือดออก เพชฌฆาตหน้าฝน มียุงลายเป็นพาหะ ตายได้หากรักษาไม่ทันท่วงที

20 ก.ค. 66

โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะ ระบาดหนักช่วงหน้าฝน อาการมีตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคมาสู่คน มักพบในประเทศเขตร้อนและระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี อาการมีตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

การติดต่อของโรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี มี 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 มียุงลายเพศเมียเป็นพาหะนำโรคซึ่งออกหากินในเวลากลางวันและดูดเลือดคนเป็นอาหาร เมื่อยุงลายดูดเลือดจากผู้ป่วยในระยะที่มีไข้ ซึ่งมีเชื้อไวรัสในกระแสเลือด เชื้อจะเข้าไปฝังตัวในกระเพาะยุงแล้วไปอยู่ในเซลล์ที่ผนังกระเพาะ เมื่อไวรัสจำนวนมากขึ้นจะออกมาจากเซลล์ผนังกระเพาะของยุง และเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย โดยมีระยะฟักตัวในยุงประมาณ 8 – 12 วัน เมื่อยุงที่มีเชื้อไปกัดคนอื่น เชื้อไวรัสก็จะเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่โดนกัด ก่อให้เกิดการติดเชื้อและป่วยตามมาหลังจากถูกกัดประมาณ 3 – 15 วัน ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคได้

กลุ่มเสี่ยงโรคไข้เลือดออก

สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กวัยเรียน และวัยทำงานตอนต้น ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่ออาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน ได้แก่

• เด็กทารก และผู้สูงอายุ
• มีภาวะอ้วน
• หญิงตั้งครรภ์
• ผู้ที่เป็นโรคเม็ดเลือดแดงแตกง่าย หรือโรคที่เกิดจากฮีโมโกลบินผิดปกติ
• ผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
• ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรคหัวใจขาดเลือด โรคไตวาย โรคตับเรื้อรัง รับประทานยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือยาในกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory หรือ NSAIDs)

istock-1481070380

อาการของโรคไข้เลือดออก

โดยทั่วไปการติดเชื้อไวรัสเดงกีครั้งแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 80-90% อาการจะไม่รุนแรง บางรายอาจมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และมีผื่นที่ผิวหนัง แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อครั้งที่ 2 โดยเชื้อไวรัสสายพันธุ์ต่างจากครั้งแรก อาจมีอาการรุนแรงเกิดเป็นภาวะไข้เลือดออกได้ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะไข้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียสไปจนถึง 40-41 องศาเซลเซีนส มักไม่ค่อยตอบสนองต่อยาลดไข้ อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา ระยะนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 2-7 วัน

ระยะวิกฤต ระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง

ผู้ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น

เกร็ดเลือดต่ำ ทำให้เลือดออกง่าย และอาการจะไม่ดีขึ้น ยังคงเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลียมากกว่าเดิม

มีภาวะการไหลเวียนเลือดล้มเหลว ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง โดยเกิดภาวะการไหลเวียนเลือดล้มเหลวหรือภาวะช็อก เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไปยังช่องปอดหรือช่องท้องมาก เกิด hypovolemic shock ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่เกิดภาวะช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้
อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค หรือวันที่ 8 ของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการแย่ลง เริ่มมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว และความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง และอาจทำให้เสียชีวิตได้

มีภาวะเลือดออกผิดปกติ เนื่องจากมีเกร็ดลือดต่ำ เช่น มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena) อาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนใหญ่จะพบร่วมกับภาวะช็อก

ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมง ดังนั้นหากมีไข้เกิน 2 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา

ระยะฟื้นตัว อาการต่าง ๆ จะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะมากขึ้น บางรายมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามลำตัว

การตรวจวินิจฉัย

เมื่อเริ่มมีอาการป่วยควรไปตรวจที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ให้การรักษาได้ แพทย์จะตรวจเลือดเพื่อหาไวรัส หรือสารแอนติบอดี้ที่บ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อ รวมทั้งดูปริมาณความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง ปริมาณเม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือด และอาจนัดมาตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของเกร็ดเลือดและความเข้มข้นของเลือดเป็นระยะ ๆ เพราะถ้าปริมาณเกร็ดเลือดเริ่มลดลงและความเข้มข้นเลือดเริ่มสูงขึ้น เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าน้ำเลือดรั่วออกจากเส้นเลือดและอาจช็อกได้ จำเป็นต้องให้สารน้ำชดเชย

การรับมือโรคไข้เลือดออก

ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพดีพอในการรักษาโรคไข้เลือดออกโดยเฉพาะ การรักษาโรคนี้จึงเป็นการรักษาตามอาการและประคับประคอง ซึ่งจะได้ผลดีถ้าได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก แพทย์ผู้รักษาจะต้องเข้าใจธรรมชาติของโรคและให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด จะต้องมีการดูแลที่ดีตลอดระยะเวลาวิกฤต ประมาณ 24 - 48 ชั่วโมงที่มีการรั่วของพลาสมา เช่น

หากคลื่นไส้ อาเจียนมาก รับประทานอาหารและดื่มน้ำได้น้อย อาจให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด
หากอาเจียนมีเลือดปน หรืออุจจาระดำ อาจพิจารณาให้เลือดทดแทน
หากมือเท้าเย็น เนื่องจากความดันต่ำหลังจากมีไข้ อาจให้น้ำเกลือในปริมาณที่มากขึ้นอย่างทันท่วงที

การรักษาประคับประคองที่ถูกต้อง ในเวลาที่เหมาะสม จะทำให้ผู้ป่วยกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งในรายที่อาการไม่รุนแรง อาจหายได้เองภายใน 2-7 วัน

istock-486376513_1

การดูแลอาการโรคไข้เลือดออกเบื้องต้น

• รับประทานอาหารและดื่มน้ำอย่างเพียงพอ แนะนำให้รับประทานอาหารอ่อน และงดอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสีดำ แดง น้ำตาล เพื่อไม่ให้สับสนกับาภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อย หรือดื่มน้ำน้อย ให้สังเกตว่าดื่มน้ำเพียงพอหรือไม่ที่สีปัสสาวะจะต้องเป็นสีเหลืองอ่อน หากเป็นสีเหลืองเข้มหรือสีชา แสดงว่าร่างกายยังขาดน้ำอยู่ อาจให้ดื่มนม น้ำผลไม้ หรือสารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) ร่วมด้วย ในรายที่อาเจียนควรให้ดื่มครั้งละน้อย ๆ และดื่มบ่อย ๆ

• ลดไข้ เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อลดไข้เป็นระยะ ๆ และใช้ยาพาราเซตามอลตามขนาดที่แพทย์สั่ง หรือเฉพาะเวลาที่มีไข้สูงเท่านั้น ห้ามใช้ยาเกินขนาดเพราะอาจเป็นสาเหตุของตับอักเสบ พาราเซตามอลได้ ห้ามใช้แอสไพริน ไอบูโพรเฟน หรือยากลุ่ม non-steroidal anti-inflammatory drug -NSAID เพราะอาจทำให้เกร็ดเลือดเสียการทำงาน เลือดออกง่าย และมากขึ้น

• สังเกตอาการ หากพบว่าผู้ป่วยคลื่นไส้หรืออาเจียนมาก อ่อนเพลียมาก ปวดท้องมาก รับประทานอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ มีภาวะเลือดออกรุนแรง สงสัยภาวะช็อก โดยเฉพาะเมื่อไข้เริ่มต่ำลง เช่น ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นเบาเร็ว มือเท้าเย็น ปัสสาวะออกน้อย ซึม สับสน กระสับกระส่าย ฯลฯ ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

การป้องกันโรคไข้เลือดออก

• ระมัดระวังไม่ให้ยุงกัด เช่น นอนในมุ้ง สวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หรือใช้สารไล่ยุง (Mosquito Repellents) แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ DEET ทาผิวนอกเสื้อผ้า

• กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก

• ปิดปากภาชนะเก็บน้ำด้วยผ้า ตาข่ายไนล่อนอะลูมิเนียม หรือวัสดุอื่นที่สามารถปิดปากภาชนะเก็บน้ำนั้นได้อย่างมิดชิด จนยุงไม่สามารถเล็ดลอดเข้าใปวางไข่ได้

• หมั่นเปลี่ยนน้ำทุกวัน ซึ่งเหมาะสำหรับภาชนะเล็ก ๆ ที่มีน้ำไม่มาก เช่น แจกันดอกไม้สด ทั้งที่เป็นแจกันที่หิ้งบูชาพระ แจกันที่ศาลพระภูมิ หรือแจกันประดับตามโต๊ะ รวมทั้งภาชนะและขวดประเภทต่างๆ ฯลฯ

• ใส่ทรายในจานรองกระถางต้นไม้ เพื่อให้ทรายดูดซึมน้ำส่วนเกินจากการรดน้าต้นไม้ไว้ ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสาหรับกระถางต้นไม้ที่ใหญ่และหนัก ส่วนต้นไม้เล็กอาจใช้วิธีเทน้ำที่ขังอยู่ในจานรองกระถางต้นไม้ทิ้งไปทุกวัน

• การเก็บทำลายเศษวัสดุ เช่น ขวด ไห กระป๋อง ฯลฯ และยางรถยนต์เก่าที่ไม่ใช้ หรือคลุมให้มิดชิดเพื่อไม่ให้รองรับน้ำได้

• ฉีดวัคซีนไข้เลือดออก ซึ่งปัจจุบันสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกี และลดความรุนแรงของโรคได้เฉพาะในผู้ใหญ่ หรือเด็กอายุมากกว่า 6 ปี เนื่องจากวัคซีนจะได้ผลดีเฉพาะในผู้ที่เคยมีการติดเชื้อไวรัสเดงกีมาก่อนเท่านั้น จึงควรมีการตรวจเลือดก่อนการฉีด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการฉีดวัคซีน

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม