ทั่วโลกห่วงวิกฤต 'ไฟป่าแอมะซอน' เชื่อสาเหตุหลักจากคนเผาทำปศุสัตว์

23 ส.ค. 62
เหตุ ไฟป่าแอมะซอน ยังคงรุนแรงต่อเนื่องสร้างความกังวลใจให้กับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม และกลุ่มพิทักษ์สัตว์อย่างมาก หลังจากที่ไฟป่าได้ปะทุอย่างหนักในพื้นที่ป่าฝนลุ่มน้ำแอมะซอนเมื่อราว 2 สัปดาห์ก่อน ทำให้ป่าไม้ถูกทำลาย และสัตว์ป่าจำนวนมากตายในกองเพลิง ฝุ่นควันพิษจากไฟป่ายังลามไปถึงเมืองหลวงอย่างเซาเปาโล ทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบด้วย ไฟป่าแอมะซอน สำหรับป่าฝนลุ่มน้ำแอมะซอนได้รับฉายาว่า "ปอดของโลก" มีพื้นที่ถึง 5.5 ล้านตารางกิโลเมตร และผลิตออกซิเจนได้มากถึง 20 เปอร์เซนต์ นอกจากนั้น ยังคอยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกด้วย อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการดับไฟป่าที่เกิดขึ้นยังมีอุปสรรคอย่างมาก โดย ประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู ผู้นำบราซิลยอมรับว่าอุปกรณ์และเครื่องมือของเจ้าหน้าที่ยังมีไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่เกิดไฟป่า จากสถิติของทางการบราซิล พบว่าตั้งแต่ต้นปี เกิดไฟป่าแล้วอย่างน้อย 75,000 ครั้ง ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ สาเหตุหลักนั้นเชื่อว่าเกิดจากฝีมือมนุษย์ ทั้งการเข้าไปแผ้วถางไร่ รวมถึงจุดไฟเผา เพื่อใช้พื้นที่ทำประโยชน์ส่วนตัว ผู้นำหลายประเทศได้แสดงความห่วงใยต่อเหตุดังกล่าว โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความห่วงใยไปยังรัฐบาลและประชาชนชาวบราซิล พร้อมย้ำว่ารัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนความช่วยเหลือ เช่น หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละออง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะได้ประสานกับรัฐบาลบราซิลต่อไป ด้านประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศสโพสต์ทวิตเตอร์เรียกร้องให้กลุ่มผู้นำ จี 7 หารือประเด็นดังกล่าวระหว่างการประชุมในสัปดาห์นี้ ขณะที่โลกออนไลน์พร้อมใจติดแฮชแท็ก #PrayforAmazonas เพื่อรณรงค์ให้ทั่วโลกเห็นถึงความสำคัญของวิกฤตดังกล่าว
ข้อความทวีตของ ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส
ติดตามข่าวสารเรื่องราวที่น่าสนใจอื่น ๆ ได้ที่ อมรินทร์ทีวี เอชดี ช่อง 34 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม