ด่วน! ราชกิจจาฯ เผยแพร่ พ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ คาดเลือกตั้ง 14 พ.ค. 66

20 มี.ค. 66

ด่วน! เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 คาดกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ 14 พ.ค. 2566

วันที่ 20 มี.ค. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการเผยแพร่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566  

โดยมีรายละเอียดระบุว่า  พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไว้ ณ วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2566 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ด้วยนายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลฯ ว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ พ.ศ. 2562 และบัดนี้ได้ปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีที่สี่ อันเป็นปีสุดท้ายของอายุสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

สมควรยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นการคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมือง ให้แก่ประชาชนโดยเร็วเพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 103 และมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566” 

มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป 

มาตรา 3 ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป 

มาตรา 4 ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ 

มาตรา 5 ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

***อ่านรายละเอียดได้ที่  https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140A022N0000000000100.pdf

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้เมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 แล้ว ตามกฎหมายทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง และประกาศกำหนดวันรับสมัครภายใน 5 วัน นับตั้งแต่วันมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566

จากนั้นจะเปิดสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เป็นเวลา 5 วัน และเมื่อปิดรับสมัครแล้ว นับต่อไปอีกไม่เกิน 7 วัน กกต.จะต้องประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. คาดว่าขั้นตอนเหล่านี้จะเกิดขึ้นช่วงปลายเดือนเม.ย. 2566

ต่อมา กกต. จะต้องประกาศหน่วยเลือกตั้ง สถานที่ลงคะแนน และรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ประชาชนทราบก่อนถึงวันเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 25 วัน

ก่อนที่ กกต. จะส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน ให้ตรวจสอบรายชื่อก่อนถึงวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20 วัน ซึ่งสามารถเช็กดูได้ว่า ชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในทะเบียนบ้านของตนเองครบหรือไม่ มีชื่อใครขาดหรือเกินมารึเปล่า ถ้ามีชื่อใครขาดหรือเกินมา ก็จะมีเวลาทักท้วงแจ้งเพิ่ม-ถอนชื่อ ก่อนถึงวันเลือกตั้งได้ไม่น้อยกว่า 10 วัน

จากนั้น กกต. จะต้องสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งให้เรียบร้อยก่อนถึงวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20 วัน และหากมีการเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้งหรือสถานที่ลงคะแนนจะต้องแจ้งให้ประชาชนทราบก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วันด้วย

สำหรับผู้ที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้งได้ คาดว่า กกต.จะประกาศวันเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนใช้สิทธิได้ เป็นวันที่ 7 พ.ค. 2566 และวันเลือกตั้งจริงวันที่ 14 พ.ค. 2566

 

advertisement

ข่าวยอดนิยม