“ก้าวไกล” เปิด 10 นโยบายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ เนื่องในวันสตรีสากล

8 มี.ค. 66

“ก้าวไกล” เปิด 10 นโยบายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ เนื่องในวันสตรีสากล ชูคำนำหน้านามตามความสมัครใจ - ผ้าอนามัยไม่เก็บ VAT แจกฟรีในโรงเรียน

วันที่ 8 มี.ค. 66 พรรคก้าวไกล ร่วมกับศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) จัดกิจกรรม “กาก้าวไกล เพศไหนก็คนเท่ากัน” เนื่องในวันสตรีสากล 8 มี.ค. ของทุกปี โดยปีนี้เครือข่าย International Women’s Day ได้กำหนดรูปแบบการจัดงานที่มีชื่อว่า “การโอบรับอย่างเท่าเทียม”

โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวเปิดตัวนโยบายเลือกตั้ง66 พื่อความเท่าเทียมทางเพศ ยืนยันพร้อมสานต่อภารกิจของพรรคอนาคตใหม่ ในการสร้างประเทศไทยที่ “คนไทยเท่าเทียมกัน ประเทศไทยเท่าทันโลก”

โดย 10 นโยบายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศของพรรคก้าวไกล ซึ่งเรียงตามช่วงอายุของคนคนหนึ่งตั้งแต่เกิดจนแก่ ประกอบด้วย 

  1. ผ้าอนามัยไม่เก็บ VAT แจกฟรีในโรงเรียน

ด้วยการยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในสินค้าหมวดหมู่ผ้าอนามัยและของใช้สิ้นเปลืองสำหรับวัยเจริญพันธุ์ และแจกผ้าอนามัยฟรีในสถานศึกษาและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนผ้าอนามัยและความจนประจำเดือน (Period Poverty) โดยเฉพาะสำหรับผู้มีประจำเดือนในวัย 10-25 ปี 

  1. ปฏิรูปการสอนเพศศึกษา ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ

ด้วยการออกแบบหลักสูตรใหม่ ให้การสอนเรื่องเพศศึกษา (Sex education) ให้ความสำคัญกับค่านิยมต่างๆ เช่น ความเข้าใจเรื่องความยินยอม (consent) ความหลากหลายทางเพศ และสอนเรื่องทางกายภาพอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เยาวชนเข้าใจความสำคัญของการป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่ประสงค์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 

  1. ตำรวจหญิงทุกสถานี

ด้วยการเพิ่มจำนวนตำรวจหญิง เพื่อให้อย่างน้อยมีเพียงพอต่อการมีพนักงานสอบสวนหญิงประจำทุกสถานีตำรวจ เช่น เพิ่มจำนวนรับให้สูงขึ้น เปิดรับจากบุคคลภายนอกมากขึ้น พิจารณากลับมาเปิดรับนักเรียนนายร้อยหญิง เนื่องจากสถิติของกระทรวงยุติธรรม พบว่าไม่ต่ำกว่า 75% ของผู้หญิงไทยที่เคยถูกคุกคามทางเพศ เลือกที่จะไม่แจ้งความ เหตุผลส่วนหนึ่งคือความไม่สบายใจ เพราะผู้เสียหายสะดวกใจกับพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้หญิงมากกว่า นอกจากนี้ ต้องออกแบบกระบวนการอบรมและประเมินตำรวจทุกคนไม่ว่าเพศใด ที่รับผิดชอบคดีคุกคามทางเพศ ให้สามารถดำเนินการด้วยวิธีการและบรรยากาศที่เข้าใจถึงความละเอียดอ่อนของคดีและสนับสนุนให้เหยื่อรู้สึกปลอดภัยในการให้ข้อมูลในกระบวนการยุติธรรมด้วย 

  1. ปรับปรุงกฎหมายต่อต้านความรุนแรงทางเพศ

ด้วยการแก้ประมวลกฎหมายอาญา และกฎ ก.พ. เพื่อกำหนดนิยามใหม่ของการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ การกระทำอนาจาร และการกระทำชำเราเสียใหม่ เพื่ออุดช่องว่างของกฎหมายให้ครอบคลุมปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมากขึ้น 

  1. สมรสเท่าเทียม คู่รักทุกเพศแต่งงานกันได้

ด้วยการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว โดยเปลี่ยนคำในตัวบทกฎหมาย จากคำนามที่ระบุเพศ เช่น ชาย-หญิง สามี-ภรรยา เป็นคำนามไม่ระบุเพศ อาทิ บุคคล คู่สมรส เพื่อให้คนทุกเพศสามารถหมั้นและสมรสกันได้ และมีสิทธิในฐานะคู่หมั้นหรือคู่สมรสโดยเสมอหน้ากันทุกประการ 

  1. รับรองทุกเพศสภาพ คำนำหน้าตามสมัครใจ

ด้วยการปรับโครงสร้างรัฐและกฎหมายให้รับรองทุกเพศสภาพ เพื่อเป็นรากฐานในการออกแบบนโยบายในทุกมิติ คุ้มครองสิทธิการรับรองทางกฎหมาย ผ่านการกำหนดมาตรการรับรองสถานะความเป็นบุคคลให้ตรงกับเจตจำนงในเพศสภาพของบุคคลนั้น โดยไม่ต้องผ่านการรับรองหรือกระบวนการทางการแพทย์ และคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการใช้คำนำหน้านามตามความสมัครใจ ซึ่งรวมถึง สิทธิในการเปลี่ยนคำนำหน้านามให้ตรงกับเพศสภาพ สิทธิในการเลือกคำนำหน้านามที่เป็นกลางทางเพศ (เช่น “นาม”) สิทธิในการเลือกไม่ใส่คำนำหน้านาม (ระบุเพียงชื่อและนามสกุล) ตลอดจนออกกฎหมายที่ขจัดการเลือกปฏิบัติในสังคม เพื่อให้ทุก ๆ เพศมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน 

  1. ยุติการตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ รับยาฟรี ทุก รพ.สต.

ด้วยการคุ้มครองสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ สำหรับบุคคลที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ให้สามารถรับยายุติการตั้งครรภ์ได้ที่ รพ.สต. ทุกแห่งทั่วประเทศ มีการให้คำปรึกษาหลังจากการยุติการตั้งครรภ์ฟรี เพื่อตรวจสอบและฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้หญิงที่เข้ารับการยุติการตั้งครรภ์ 

  1. สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้

ด้วยการขยายสิทธิลาคลอดจากปัจจุบัน (98 วัน) เพิ่มเป็น 180 วัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลขององค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ที่กำหนดให้บุตรควรได้รับนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด โดยพ่อแม่สามารถแบ่งวันลาได้ตามความสะดวก หรือใช้ร่วมกัน เช่น แม่ลา 5 เดือน พ่อใช้อีก 1 เดือน เพื่อช่วยแบ่งเบาการทำหน้าที่และร่วมกันดูแลลูกในช่วง 1 เดือนแรก 

  1. ศูนย์เลี้ยงเด็กใกล้บ้าน ห้องปั๊มนมในที่ทำงาน

ด้วยการเพิ่มงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำไปบริหารจัดการเกี่ยวกับการดูแลเด็กเล็กในรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตน เช่น การเพิ่มมาตรฐานศูนย์ให้เหมาะกับเด็กเล็ก การเพิ่มสัดส่วนผู้เลี้ยงดูเด็กต่อจำนวนเด็กเล็ก การอุดหนุนสถานเลี้ยงดูเด็กของเอกชน รวมถึงใช้กลไกของ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน กำหนดให้อาคารสำนักงานและสถานประกอบการขนาดใหญ่จำเป็นต้องจัดให้มีสถานที่เลี้ยงดูเด็กเล็กและสิ่งที่เกี่ยวข้อง (เช่น ห้องปั๊มนม) ภายในหรือใกล้อาคารสำนักงานหรือสถานประกอบการ เพื่อความสะดวกต่อการดูแลบุตรของพ่อแม่ 

  1. ตรวจมะเร็งฟรี

ไม่ต้องรอหมอสั่งใน Package ตรวจสุขภาพประจำปีฟรี ของพรรคก้าวไกล ตรวจคัดกรองฟรี 5 มะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทย ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงโดยให้บรรจุในแพ็กเกจตรวจสุขภาพ รวดเร็วขึ้นเพราะไม่ต้องรอหมอสั่ง 

ปัจจุบันผู้หญิงสามารถตรวจมะเร็งปากมดลูกได้เท่านั้นที่ไม่ต้องรอหมอสั่ง แต่คนใช้สิทธิ์ยังน้อย ซึ่งพรรคก้าวไกลจะเพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพประจำปีของประชาชนให้ครอบคลุมขึ้นและมีแรงจูงใจเป็นค่าเดินทาง ติดตามรายละเอียดได้ในการเปิดนโยบายสุขภาพเร็วๆ นี้

advertisement

ข่าวยอดนิยม