ชาว ม.33 รู้ยัง? ปรับเงินสมทบใหม่ เริ่มปี 67 เพิ่มขึ้น 1,150 บาท

8 ก.พ. 66

ชาว ม.33 รู้ยัง? ประกันสังคม เปิดรับฟังความคิดเห็น เตรียมปรับเงินสมทบใหม่ เริ่มปี 67 จากเคยส่งเงินสูงสุด 750 บาท อาจส่งเพิ่มเป็น 1,150 บาท

วันที่ 8 ก.พ. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “กระทรวงแรงงาน” ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม โดยจะมีการปิดรับฟังความคิดเห็นวันที่ 28 ก.พ.นี้

โดยสาระสำคัญในกฎกระทรวงดังกล่าวนั้น มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงเอาไว้ดังนี้ 

          - ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2569 จํานวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 17,500 บาท

          - ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2570 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2572 จํานวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 20,000 บาท

          - ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป จํานวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650  บาท และไม่เกิน 23,000 บาท 

จากกฎกระทรวงฉบับที่ 7 ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 พบว่า จำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบประกันสังคม ม.33 ขั้นต่ำอยู่ที่ 1,650 บาท ขั้นสูงสุดจะอยู่ที่ 15,000 บาท โดยจ่ายในอัตราร้อยละ 5 ตกเดือนละ 750 บาท 

ทั้งนี้หากมีการใช้กฎกระทรวงฉบับใหม่จริง เงินสมทบประกันสังคมของผู้ประกันตน ม.33 จะต้องมีการปรับเพิ่มขึ้นตามปีตั้งแต่ พ.ศ. 2567 - พ.ศ. 2573 โดยจำนวนเงินสมทบจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามเพดานค่าจ้างขั้นสูง ดังนี้

          - พ.ศ. 2567 - 2569 ผู้ประกันตน ม.33 ที่เงินเดือนมากกว่า 17,500 บาท จะจ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 875 บาท

          - พ.ศ. 2570 - 2575 ผู้ประกันตน ม.33 ที่เงินเดือนมากกว่า 20,000 บาท จะจ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 1,000 บาท

          - ตั้งแต่ พ.ศ. 2573 ผู้ประกันตน ม.33 ที่เงินเดือนมากกว่า 23,000 บาท จะจ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 1,150 บาท 

อย่างไรก็ตามการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ม.33 ปัจจุบัน

-เงินเดือน 5,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 250 บาท

-เงินเดือน 10,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 500 บาท

-เงินเดือน 15,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 750 บาท 

-เงินเดือนมากกว่า 15,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 750บาท 

สำหรับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ม.33 คือทำให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้นเนื่องจากฐานที่ใช้ในการคำนวณเพื่อรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะคำนวณจากค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคม ดังนี้

-เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

-เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ 70% หรือ 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

-เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

-เงินสงเคราะห์กรณีตาย 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

-เงินทดแทนการขาดรายได้ในกรณีว่างงาน 50% หรือ 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

-เงินบำนาญชราภาพ ไม่ต่ำกว่า 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่นำส่งเข้ากองทุน โดยผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบ 15 ปี จะได้รับบำนาญ 20% ของค่าจ้าง ส่วนผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มอีก 1.5% ทุกการส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน

สำหรับเงินบำเหน็จชราภาพจะได้รับเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติเนื่องจากมีการนำส่งเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเพิ่มขึ้นจากการปรับฐานที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ

ทั้งนี้ปี 2565 มีจำนวนผู้ประกันตน ม.33 ที่ 11.63 ล้านคน โดยตัวเลขจำนวนผู้ประกันตน ม.33 จากสำนักงานประกันสังคม ระบุว่า ณ เดือนธันวาคม 2565 มีจำนวน 11,638,041 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีจำนวนผู้ประกันตน ม.33 อยู่ที่  11,137,211 คน

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส