สั่งยกระดับมาตรการเพื่อลด PM2.5 หลังพบค่าฝุ่นรุนแรงระดับ 3

2 ก.พ. 66

กรมควบคุมมลพิษ แถลงยกระดับมาตรการเพื่อลด PM2.5 หลังพบค่าฝุ่นรุนแรงระดับ 3 แต่ยังไม่ต้องถึงขั้นปิดสถานศึกษา 


วันนี้ (2 ก.พ.66) นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แถลงมาตรการ "การยกระดับมาตรการเพื่อลดแหล่งกำเนิด PM2.5 และป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย" ที่ปัจจุบันภาพรวมค่า PM 2.5 ของประเทศไทย เกินค่ามาตรฐานเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและมีผลกระทบต่อสุขภาพในบางพื้นที่

โดยกระทรวงทรัพยากรฯได้ ร่วมกับ กทม.กำหนดมาตรการที่เข้มข้นขึ้น และขอความร่วมมือ WFH ระหว่างวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ เพื่อลดการจราจร ลดการเคลื่อนที่และดูแลสุขภาพไม่ให้มีความเสี่ยง เนื่องจากเป็นวันที่อากาศจะปิด และมีปริมาณฝุ่น PM 2.5 มากที่สุด 

กรมควบคุมมลพิษระบุว่า สถานการณ์ฝุ่นตอนนี้ ยังอยู่ในระดับ 3 มีผลกระทบต่อสุขภาพ  ค่าฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 61 - 131 มคก./ลบ.ม. ตามหลักเกณฑ์แล้ว ยังไม่ถึงระดับที่จะต้องปิดสถานศึกษา แต่ขอให้งดกิจกรรมกลางแจ้ง โดยยังไม่ถึงเกณฑ์ให้รัฐบาลมีข้อสั่งการให้ Work From Home และปิดสถานศึกษา 

ส่วนการแก้ไขกรมควบคุมมลพิษ ได้ทำเรื่องไปถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนายวราวุธ ศิลปอาชา ในฐานะรัฐมนตรี สั่งการให้กรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ เข้มข้นในการกำกับดูแลการเผาในพื้นโล่ง การเผาภาคการเกษตร รวมไปถึงให้ระวังไฟป่า ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มมาตรการลงทะเบียนการเผา โดยจะให้แต่ละจังหวัดดำเนินการพิจารณาอนุญาตเป็นรายๆไป ไม่ให้มีการเผาซ้ำซ้อน หรือในพื้นที่ใกล้เคียงกัน

ตั้งเป้าหมายว่า จะสามารถลดการเผาลงไปเหลือเพียงประมาณ 500 - 600 จุด จากเดิมที่พบว่ามีค่าเฉลี่ยการเผา 1,200 จุด

ขณะที่สถานการณ์ฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรมและพื้นที่การก่อสร้าง ขณะนี้ตรวจวัดยังไม่พบ ว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและบางพื้นที่ของประเทศ ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในอัตราไม่เกินร้อยละ 10

ขณะเดียวกันที่ผ่านมาทางกรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการร่วมกับทาง กทม.โดยผู้ว่าฯ กทม. ตรวจโรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ใกล้เคียงจำนวนทั้งหมด 800 โรงงาน ซึ่งมีการกำกับและสร้างแนวทางให้โรงงานทำระบบป้องกันฝุ่นให้ผ่านมาตรฐาน

“ ขณะที่ภาพรวมค่า PM 2.5 ของประเทศไทย โดยเฉพาะ กทม.  ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐาน อยู่ในขั้นส้มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะที่ในส่วนของ กทม. อยู่ในขั้นสีแดงที่อยู่ในขั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้จาะระบบกรมควบคุมมลพิษ และกทม. ได้วัดค่าย้อยพื้นที่แต่ละเขต พบว่าหลายพื้นที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว

หัวใจสำคัญฝุ่นที่เกินขึ้นมาในช่วงนี้  มาจากการพบจุดความร้อนกว่า 1,200 จุด จากเหตุไฟไหม้ป่า และการเผาพืชผลทางการเกษตร ทำให้กระทบต่อค่าฝุ่น เป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้ค่า PM2.5 เกินมาตรฐาน และในสภาพอากาศปิด ช่วงฤดูหนาวเหมือนฝาชีครอบในเมือง”

s__75538455

“สิ่งที่ต้องย้ำช่วงวันสองวันนี้ คือเรื่องการบริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยเฉพาะการเผาในป่าและพื้นที่การเกษตร จะต้องมีการลงทะเบียน เพื่อขออนุญาตเผา เพราะตอนนี้มีจุดร้อนกว่า 1,200 จุด เราต้องลดให้ได้ 50-60% ยืนยันว่าเราไม่ได้นิ่งนอนใจ  2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ จำนวนวันที่เกิดฝุ่นลดลงไป แต่เราก็จะต้องทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในปีนี้ เพื่อให้ต่ำกว่ามาตรฐานได้อย่างถาวร”

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพื้นที่ที่ควรเฝ้าระวังสำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ พื้นที่กรุงเทพกลาง กรุงธนเหนือ และใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ท้ายลม และพื้นที่ที่ควรเฝ้าระวังสำหรับ 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ บริเวณภาคเหนือตอนบนและล่าง

กรมควบคุมมลพิษคาดการณ์ว่า ปี 2566 ปริมาณฝุ่น จะมีความรุนแรงมากกว่าปีที่แล้วก็เนื่องจากสภาพอากาศปิดจนถึงเดือนมีนาคม และการใช้ชีวิตของประชาชนกลับมาเป็นปกติมีการสัญจร อาจจะทำให้ฝุ่นพีเอ็มมีค่าเกินมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งทางกรมฯ จะพยายาม ควบคุมปริมาณฝุ่นจากต้นต่อไม่ให้เกินค่ามาตรฐานโดยเทียบจากปี 2565

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามรายงานสถานการณ์ PM2.5 และคุณภาพอากาศได้ทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Air4Thai และ AirBKK โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง ให้สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาว หากมีอาการทางสุขภาพขอให้ไปพบแพทย์

 

 

 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส