ราชกิจจาฯ ประกาศ กฎหมายลูกเลือกตั้งพรรคการเมือง มีผล 29 ม.ค.66

29 ม.ค. 66

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่2) พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 27 มาตรา 34 และมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้การดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคำแนะนำ และยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความใน (๑๕) ของวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๑๕) รายได้ของพรรคการเมือง และอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมือง
ซึ่งต้องเรียกเก็บจากสมาชิกไม่น้อยกว่าปีละยี่สิบบาท”

มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในวรรคสี่ของมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“พรรคการเมืองอาจกำหนดให้เรียกเก็บค่าบำรุงพรรคการเมืองจากสมาชิกแบบตลอดชีพตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าสองร้อยบาท”

มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๒๔ สมาชิกต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อบังคับ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ในกรณีเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

(๒) ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา ๙๘ (๑) (๒) (๔) (๕)(๖) (๗) (๘) (๙) (๑๑) (๑๔) (๑๖) (๑๗) หรือ (๑๘) ของรัฐธรรมนูญ

(๓) ไม่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้จำคุกว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษ

(๔) ไม่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้จำคุกว่ากระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วย การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนักกฎหมายว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิด ฐานฟอกเงิน

(๕) ไม่เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นหรือผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น ตามมาตรา ๑๑ หรือผู้แจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นตามมาตรา ๑๘”

มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๓๕ ในจังหวัดที่มิได้เป็นที่ตั้งสาขาพรรคการเมือง ถ้าพรรคการเมืองนั้นมีสมาชิก ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้นเกินหนึ่งร้อยคน พรรคการเมืองนั้นอาจแต่งตั้งสมาชิกซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้นซึ่งมาจากการเลือกของสมาชิกดังกล่าวให้เป็นตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดได้ ตามจำนวนที่เห็นสมควรเพื่อดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองในจังหวัดนั้น และให้นำความในมาตรา ๓๔ มาใช้บังคับแก่ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดด้วยโดยอนุโลม”

มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๗ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย พรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๔๗ พรรคการเมืองซึ่งประสงค์จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งในจังหวัดใด ต้องมีสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดในจังหวัดนั้น ในกรณีที่พรรคการเมืองใดมีสาขาพรรคการเมืองมากกว่าหนึ่งสาขาหรือ ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดมากกว่าหนึ่งตัวแทนในจังหวัดใด ให้พรรคการเมืองนั้นกำหนดว่า จะให้สาขาพรรคการเมืองสาขาใดหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดใดในจังหวัดนั้น เป็นสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเพื่อดำเนินการตามมาตรา ๕๐”

มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๔๘ การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อเพื่อส่งให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด โดยต้องคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงด้วย

ในกรณีที่พรรคการเมืองใดมีสาขาพรรคการเมืองมากกว่าหนึ่งสาขาหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด มากกว่าหนึ่งตัวแทนในจังหวัดใด ให้พรรคการเมืองนั้นกำหนดว่าจะให้สาขาพรรคการเมืองสาขาใดหรือ ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดใดในจังหวัดนั้น เป็นสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมือง ประจำจังหวัดเพื่อดำเนินการตามมาตรา ๕๑”

มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๕๐ การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งให้ดำเนินการตามวิธีการ ดังต่อไปนี้

(๑) ให้คณะกรรมการสรรหากำหนดวัน เวลา และสถานที่ในการสมัครเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง และประกาศให้สมาชิกทราบเป็นการทั่วไป

(๒) เมื่อพ้นกำหนดเวลารับสมัครตาม (๑) ให้คณะกรรมการสรรหาตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครในแต่ละเขตเลือกตั้ง แล้วส่งรายชื่อผู้สมัครให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด

(๓) เมื่อสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดได้รับรายชื่อผู้สมัครจากคณะกรรมการสรรหาแล้ว ให้หัวหน้าสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดจัดการประชุมสมาชิกเพื่อรับฟังความคิดเห็นและให้สมาชิกให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบตามรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาส่งมา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

(๔) ให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดส่งรายชื่อผู้สมัครในแต่ละเขตเลือกตั้งทั้งที่ได้รับความเห็นชอบและไม่ได้รับความเห็นชอบพร้อมความคิดเห็นตาม (๓)ให้คณะกรรมการสรรหาเพื่อพิจารณาเสนอความคิดเห็น

(๕) ให้คณะกรรมการสรรหาส่งรายชื่อผู้สมัครของแต่ละเขตเลือกตั้งพร้อมความคิดเห็นตาม (๓) และ (๔) ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเสนอให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง”

มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๕๑ การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้ดำเนินการตามวิธีการ ดังต่อไปนี้

(๑) ให้คณะกรรมการสรรหากำหนดวัน เวลา และสถานที่ในการสมัครและการเสนอรายชื่อบุคคลเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง และมีหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และประกาศให้สมาชิกทราบเป็นการทั่วไป

(๒) ให้กรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เสนอรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้คณะกรรมการสรรหา

(๓) เมื่อพ้นกำหนดเวลารับสมัครและเสนอรายชื่อตาม (๑) แล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม และจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่เกินหนึ่งร้อยรายชื่อ

อ่านฉบับเต็มได้ที่

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม