รัฐบาล-ส.ว.แก้เผ็ดวางยาล่มองค์ประชุมร่วมรัฐสภาไปไม่รอด

25 ม.ค. 66

 

องค์ประชุมร่วมรัฐสภาไปไม่รอด ล่มแต่วัน ส.ว.ตีรวนขวางลำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ชวน” แจงบรรจุระเบียบวาระถูกต้อง รัฐบาล-ส.ว.แก้เผ็ดวางยา

เมื่อเวลา 10.20 น. วันที่ 25 ม.ค. 66 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพิธีสารเพื่อแก้ไขข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วมรายสาขาของอาเซียน สำหรับการตรวจประเมินตามมมาตฐานวิธีการในการผลิตยา

ภายหลังที่ประชุมเห็นชอบร่างพิธีสารดังกล่าวแล้ว จึงเข้าสู่วาระการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 และมาตรา 272 เรื่องที่มานายกรัฐมนตรีให้มาจาก ส.ส. และการตัดอำนาจ ส.ว.ไม่ให้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามที่ฝ่ายค้านเป็นผู้เสนอ ซึ่งเลื่อนขึ้นมาพิจารณาแทนที่ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

แต่ปรากฏว่า นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ขอหารือว่า การเลื่อนระเบียบวาระนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน มาพิจารณาแทนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน มีความถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ เพราะการแก้ไขระเบียบวาระต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาก่อน แต่กรณีนี้ ส.ว.ไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นการเลื่อนระเบียบวาระ จึงขอเสนอญัตติด่วนให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติว่า การเลื่อนระเบียบวาระดังกล่าวเป็นไปโดยมิชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

ขณะที่นายชวน ชี้แจงว่า การเลื่อนระเบียบดังกล่าวเป็นการหารือนอกรอบ เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 66 ที่เชิญ ส.ส.รัฐบาล ฝ่ายค้าน ครม.มาหารือปัญหาองค์ประชุมล่ม และกรอบเวลาอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 มีการพูดไปถึงการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 25 ม.ค.นี้ ว่าหากจะพิจารณาเรื่องใดควรสามารถลงมติจบสิ้นในวันดังกล่าวได้ ฝ่ายค้านเสนอว่าร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนต้องอภิปรายนาน เพราะมีประเด็นขัดแย้งวิจารณ์อยู่มาก อาจลงมติไม่ได้ในวันเดียวกัน ที่ประชุมจึงเห็นตรงกันให้เลื่อนวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาพิจารณาแทน

นายชวน กล่าวต่อว่า ตนจึงใช้อำนาจประธานรัฐสภาบรรจุเปลี่ยนแปลงวาระประชุม ให้เป็นการประชุมนัดพิเศษ สามารถทำได้ ส่วนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนก็ยังอยู่ ไม่ได้ถูกถอนออกไป แม้ ส.ว.ไม่ได้ร่วมประชุม แต่แจ้งเรื่องให้ประธานวุฒิสภาทราบแล้ว ยืนยันการจัดระเบียบวาระประชุมเป็นอำนาจประธานรัฐสภาสามารถทำได้ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ถ้า ส.ว.สงสัยการเปลี่ยนแปลงวาระประชุมทำไม่ถูกต้อง ก็พร้อมให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติตามที่เสนอมา ซึ่งนายสมชายยืนยันต้องการให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติ ทำให้เกิดความชุลมุนทันที ส.ส.ฝ่ายค้านพากันประท้วง ระบุ ส.ว.ไม่มีสิทธิเสนอญัตติเพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติได้

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประท้วงว่า นายชวนกำลังจะทำผิดข้อบังคับการประชุมที่จะให้ลงมติญัตติตามที่นายสมชายเสนอ เพราะญัตติที่นายสมชายเสนอไม่ใช่เรื่องที่ต้องลงมติ เพราะประธานรัฐสภาใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงวาระประชุมได้  การเสนอญัตติของนายสมชายถือว่าอันตราย ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ น่าอับอาย มีวัตถุประสงค์ต้องการหาเรื่องต้องการล้มองค์ประชุม โดยใช้วิธีไม่ชอบ โดยนายชวนให้ความร่วมมือด้วย ถ้านายชวนยืนยันจะให้ลงมติฝ่ายค้านก็จะไม่ร่วมมือใดๆในการประชุม

อย่างไรก็ตามนายชวนยืนยันให้มีการลงมติ จึงกดออดเรียกสมาชิกมาแสดงตนเป็นองค์ประชุมเพื่อลงมติ โดยรออยู่นานร่วม 40 นาที ก็ยังไม่มีท่าทีจะมีองค์ประชุมครบ เนื่องจากมีคำสั่งจากวิปรัฐบาลสั่งการไปยัง ส.ส.ซีกรัฐบาล ไม่ให้แสดงตนเป็นองค์ประชุม ขณะที่โซนที่นั่งฝั่ง ส.ว.ก็มีคนนั่งกันอยู่บางตา แม้นายชวนจะขอความร่วมมือให้สมาชิกร่วมแสดงตนเป็นองค์ประชุม แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ หลังจากรอนานพักใหญ่ ในที่สุดนายชวนจึงกล่าวว่า ขณะนี้มีตัวเลขสมาชิกอยู่แค่ 275 คน ไม่ครบองค์ประชุม ขอปิดประชุมในเวลา 13.35 น.

 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม