เปิดหลักเกณฑ์ "รถนำขบวน" ใครบ้างมีสิทธิใช้ได้ ?

23 ม.ค. 66

จากดราม่าร้อน สาวจีนโพสต์คลิปเที่ยวไทย แค่จ่ายเงินก็มีตำรวจมารับที่สนามบิน-ขับรถนำขบวน จนดังสนั่นโซเชียล ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกมายืนยันว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องผิดกฎหมาย นำไปสู่คำสั่งย้ายนายตำรวจในคลิปดังกล่าว

หากย้อนไปเมื่อปี 2564 เคยมีดราม่าเรื่องของรถนำขบวนมาแล้ว จากกรณีรถนำขบวน VIP ซึ่งครั้งนั้นขี่สวนเลนจราจร จนมีประชาชนถ่ายคลิป ถึงขั้นตำรวจที่นำขบวน ถูกตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีคำสั่งย้ายขาดจากตำแหน่งเดิมเช่นกัน

เรื่องของรถนำขบวนที่นำไปใช้ในทางไม่เหมาะสม จึงถือได้ว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย  หากเราย้อนไปดูระเบียบและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ "รถนำขบวน"  แม้จะไม่ได้มีการบัญญัติไว้ในกฎ หายฉบับใดฉบับหนึ่งอย่างชัดเจน แต่ก็มีระบุอยู่ในหนังสือของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งออกตามมติ ครม. เมื่อปี 2540 เรื่อง "แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการขอใช้รถวิทยุตำรวจนำขบวนของบุคคลสำคัญ"

หลักเกณฑ์การใช้ "รถนำขบวน" นอกเหนือจากขบวนเสด็จพระราชดำเนิน และขบวนเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์ ประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ ซึ่งมีรถตำรวจนำขบวนตามปกติประเพณีอยู่แล้ว

ยังมีบุคคลอื่นๆ ที่สามารถใช้รถตำรวจนำขบวนได้เป็นประจำ หรือใช้ได้เป็นครั้งๆไป ซึ่งแยกหลักเกณฑ์ต่างๆ ออกเป็นดังนี้

1.การใช้รถตำรวจทางหลวงนำขบวนเป็นประจำโดยปกติ คือ ภารกิจปกติที่ต้องจัดรถนำขบวนโดยมิต้องร้องขอ ได้แก่

-นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา รองประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองสูงสุด

-สมเด็จพระสังฆราช

-รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้นำฝ่านค้านในสภาผู้แทนราษฎร และประธานกรรมการที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

-ผู้เคยตำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

2.การใช้รถตำรวจนำขบวนที่จะต้องได้รับอนุญาตใช้เป็นครั้งๆไป คือ กรณีที่จะต้องร้องขอ สั่งการ และต้องอนุญาตตามระเบียบ ได้แก่

-ผู้แทนพระองค์พระราชอาคันตุกะ ประมุขของรัฐต่างประเทศ ผู้นำรัฐบาลต่างประเทศ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ องคมนตรี ผู้นำทางศาสนาอื่น สมเด็จพระราชาคณะ  

-ขบวนที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่สุดทางราชการที่จะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจสำคัญที่เกรงว่าจะไม่ทันเวลา เช่น ผู้พิพากษา หัวหน้าศาล ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นต้น 

-ขบวนที่ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ตำรวจนำขบวนเพื่อความปลอดภัย เช่น รถนักเรียน ขบวนรถเดินทางไปประกอบศาสนกิจ หรือขบวนที่มีรถหลายคัน 

 

ส่วนกรณีของบุคคลทั่วไป มีหลักเกณฑ์ในการขอใช้รถตำรวจนำขบวน คือ

-เส้นทางเป็นอันตราย เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง หรือเส้นทางเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง 

-จำนวนรถในขบวน เช่น รถโดยสารไม่ประจำทาง จำนวน 8 คัน รถยนต์เก๋ง จำนวน 10 คัน หรือรถเก๋งและรถยนต์โดยสารไม่ประจำทางรวมกัน 10 คันขึ้นไป 

ในกรณีการร้องขอเป็นครั้งๆ ไปนั้น ถึงแม้จะมีจำนวนรถที่เข้าเกณฑ์การขอรถนำขบวนได้ แต่หากพิจารณาแล้วว่า ไม่เหมาะสม ก็จะไม่ได้รับอนุญาต และโดยทั่วไปการร้องขอจะได้คำตอบรับไม่เกิน 7 วัน

ส่วนรถนำขบวนคณะทัศนศึกษา หรือไปทอดกฐิน ผ้าป่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองบังคับการตำรวจทางหลวง จะเลือกที่สำคัญ โดยเฉพาะที่มีเด็กเล็กร่วมอยู่ในขบวนจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามการขออนุญาตใช้รถตำรวจนำขบวน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการพิจารณาหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ให้ใครก็ได้ใช้สิทธิพิเศษเพื่อความสะดวกสบายส่วนตัว เพราะนอกจากจะส่งผลต่อความปลอดภัยบนท้องถนนแล้ว อาจจะสร้างภาพลักษณ์ไม่ดีในสายตาประชาชนได้

ที่สำคัญรถนำขบวนที่ถูกต้องตามระเบียบ มีเพียงตำรวจจราจรกลาง ตำรวจทางหลวง และตำรวจกองปราบเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ทำไม่ได้ รวมถึงการนำรถขององค์กรการกุศลอื่นๆ หรือรถมูลนิธิต่างๆ ก็ไม่สามารถนำมาใช้นำขบวนได้เช่นกัน 

 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม