อาหารปนเปื้อนฟอร์มาลิน มีวิธีสังเกตอย่างไร และทำความสะอาดก่อนกินได้หรือไม่

5 ธ.ค. 65

ผู้เชี่ยวชาญแนะวิธีสังเกต เนื้อสัตว์ อาหารและผักผลไม้ว่ามี ฟอร์มาลิน ปนเปื้อนหรือไม่ เพื่อป้องการร่างกายไม่ให้รับสารที่อาจก่ออันตรายถึงชีวิต

จากกรณที่ กรมปศุสัตว์ ส่งเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ชลบุรี บุกตรวจสอบแหล่งลักลอบผลิตวัตถุดิบชิ้นส่วนเนื้อสัตว์แช่ในถังน้ำผสมฟอร์มาลินรายใหญ่ ส่งขายร้านหมูกะทะและร้านอาหารอีสาน กว่า 66 แห่งในพื้นที่ใกล้เคียง ปริมาณน้ำหนักรวม 25,000 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท ซึ่งเจ้าของยังไม่สามารถแสดงแหล่งที่มาของชิ้นส่วนเนื้อและเครื่องในสัตว์ได้ จึงไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และมีความเสี่ยงแพร่เชื้อโรคระบาดสัตว์ร้ายแรงเช่น แอฟริกาอหิวาต์ในสุกร และโรคปากและเท้าเปื่อย

ทำให้ประชาชนต่างเกิดข้อสงสัยว่าหากต้องการที่จะรับประทานเนื้อหมู หรือเนื้อสัตว์อื่นๆ ที่มีให้รับประทานในร้านอาหาร ร้านหมูกระทะ หรือเลือกซื้อมตามตลาดจะต้องสังเกตอย่างไร

โดยปกติแล้ว อาหารที่มักพบการปนเปื้อนของสารฟอร์มาลิน คือ อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ผักสด และผลไม้ อาจารย์อ๊อด หรือ รศ.วีระชัย พุทธวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แนะนำวิธีสังเกตง่ายๆ ดังนี้ 

1. ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ หากถูกแสงแดด หรือลมเป็นเวลานาน แล้วยังสดอยู่ก็ไม่ควรซื้อ

2. ถ้าเป็นอาหารทะเลที่เนื้อแข็งบางส่วน เปื่อยยุ่ยบางส่วน ไม่ควรซื้อ

3. ถ้าเป็นผัก ผลไม้ที่มีลักษณะแข็ง เขียว กรอบหรือสดผิดปกติ ให้ดมที่ใบ ผลหรือหักก้านดม ถ้ามีกลิ่นแสบจมูกแสดงว่ามีฟอร์มาลินปนเปื้อน

4. เมื่อซื้ออาหารมาแล้วควรแช่ด้วยสารละลายด่างทับทิมเจือจาง (ในอัตราส่วน ด่างทับทิมประมาณ 20 เกล็ด ผสมน้ำ 4 – 5 ลิตร) ประมาณ 5 – 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำ เพราะฟอร์มาลินทำปฏิกิริยากับด่างทับทิมแล้วได้เกลือฟอร์เมตซึ่งละลายน้ำได้

นอกจากนี้ อาหารที่มีการเจือปนของฟอร์มาลินอยู่ สามารถสังเกตได้จากกลิ่นของอาหารถ้าดมดูอาจได้กลิ่นฉุนแสบจมูกอาจหมายความว่ามีารปนเปื้อนอยู่ และหากรับประทานเข้าไปแล้วมีอาการ คลื่นไส้อาเจียน ต้องพบแพทย์ทันที ถ้าหากปล่อยไว้นานเกินไป ฟอร์มาลิน จะสร้างความระคายเคืองให้กับทางเดินอาหาร อาจมีเลือดออกในทางเดินอาหาร อ้วกเป็นเลือด ขับถ่ายเป็นเลือด ถ้ารับเข้าไปเยอะๆ ก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

advertisement

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส