กรมสุขภาพจิต เผย เด็กและเยาวชน LGBTQ+ เสี่ยงซึมเศร้า-คิดสั้น จากค่านิยมที่สังคมคาดหวัง

6 พ.ย. 65

กรมสุขภาพจิต เผย เด็กและเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ เสี่ยงซึมเศร้า-คิดสั้น จากแรงกัดดันของคนรอบข้างเพราะไม่เป็นไปตามค่านิยมที่สังคมคาดหวัง

วันที่ 6 พ.ย.65 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าผลการประเมิน Mental Health Check In โดยกรมสุขภาพจิต ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมานั้นพบว่ากลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 34,579 คน มีปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญคือ มีความเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้าและเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่าทุกกลุ่มวัย

ข้อมูลจากการรายงานของสายด่วน 1323 สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ปี 2564 ระบุว่า ปัญหาที่กลุ่มวัยรุ่นอายุ 11-19 ปี โทรมาขอรับคำปรึกษาสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อน ปัญหาการปรับตัวและภาวะซึมเศร้า โดยส่วนหนึ่งสถานการณ์การระบาดของโรค COVID -19 ทำให้เด็กและเยาวชนต้องปรับตัวในสังคมและส่งผลกระทบทางสุขภาพจิตอารมณ์พฤติกรรมอย่างมาก

“เด็กและเยาวชนก็ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิตมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศยิ่งมีความทุกข์ใจมากขึ้น ทั้งจากการขาดแรงสนับสนุนอย่างกลุ่มเพื่อน การที่ไม่สามารถแสดงออกถึงตัวตนที่บ้านได้ หรือแม้แต่เจอเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวต่อตนเอง เด็กและเยาวชนบางส่วนยังถูกกดดัน หรือถูกทำร้ายจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน หรือคนในชุมชน เพียงเพราะไม่ได้เป็นไปตามค่านิยมที่สังคมคาดหวัง”

งานวิจัย สุขภาพจิตและสุขภาวะของเด็กและเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ที่นำเสนอในงาน ได้ศึกษาประเด็นดังกล่าวในกลุ่มเยาวชนหลากหลายทางเพศ อายุ 15-24 ปีในประเทศไทย ผ่านแบบสอบถามออนไลน์จำนวน 3,094 คน และสัมภาษณ์ออนไลน์ 38 คน ผลวิจัยพบว่า 70-80% ของผู้เข้าร่วมมีอาการวิตกกังวลและซึมเศร้า โดยเยาวชนกลุ่มนี้ถูกกระทำความรุนแรงในหลายรูปแบบ เช่น 75.8% เคยถูกล้อเลียน 42.4% เคยถูกบังคับให้พยายามเปลี่ยนตัวตนทางเพศ และเกินครึ่งเคยถูกคุกคามทางเพศทั้งออนไลน์และต่อหน้า ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ เกินครึ่งของผู้เข้าร่วมเคยคิดฆ่าตัวตายในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้เด็กและเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในกลุ่มนี้คือผู้ที่มีแนวโน้มอ่อนไหวด้านอารมณ์จิตใจ รวมถึงพบ กลุ่มนี้ถูกกระทำความรุนแรงเช่น เคยถูกล้อเลียน เคยถูกบังคับให้พยายามเปลี่ยนตัวตนทางเพศ และเกินครึ่งเคยถูกคุกคามทางเพศทั้งออนไลน์และต่อหน้า จึงควรให้กำลังใจและดูแลเสริมสร้าง “ภูมิคุ้มใจ” และขอส่งต่อกำลังใจถึงผู้ที่ช่วยขับเคลื่อนดูแลสุขภาพจิตของน้องๆเยาวชน เพราะสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการเติบโต คือการยอมรับในความเป็นตัวเอง เคารพตัวเอง แสดงออกในทางที่สร้างสรรค์ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ภูมิคุ้มกันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ใจของพวกเขาแข็งแรงและทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญต่อเรื่องสุขภาวะของประชาชนชาว กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงเยาวชนด้วยโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ได้กำหนดนโยบายสนับสนุนความเท่าเทียมของกลุ่มหลากหลายทางเพศ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.เรียนดี ให้การศึกษาพัฒนานักเรียนสู่พลเมืองโลก เพื่อเข้าใจประเด็นอ่อนไหว เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ การกลั่นแกล้งในโรงเรียนและโลกออนไลน์ 2. สร้างสรรค์ดีเศรษฐกิจดี โดยสนับสนุนการจัดเทศกาลตลอดปี ทั่วกรุงเทพมหานคร (Pride Month) 3. ปลอดภัยดี โดยสนับสนุนเท่าเทียมและยอมรับความหลากหลายทางเพศ 4. สุขภาพดี พัฒนาคลินิกสุขภาพทางเพศหลากหลาย

ประเสริฐ ทีปะนาถ ผู้อำนวยการมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) กล่าวว่า งานวิจัยนี้นำเสนอให้เห็นถึงเสียงสะท้อนจากเยาวชน ที่รู้สึกแตกต่างจากค่านิยมหรือกรอบเพศที่ถูกคาดหวังจากครอบครัวถือเป็นประเด็นเร่งด่วนในสังคมที่สมควรได้รับการเอาใจใส่ เรามุ่งมั่นที่จะดำเนินงานเพื่อให้เด็กทุกคนได้มีชีวิตรอด ได้เข้าถึงสิทธิทางการศึกษา และได้รับการปกป้องคุ้มครองจากความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ภายใต้โครงการส่งเสริมความเท่าเทียมและความเคารพในอัตลักษณ์ที่หลากหลาย หรือโครงการ HEARTS ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อความหลากหลายทางเพศในประเทศนอร์เวย์ (หรือองค์กรฟรี FRI) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ส่งเสริมสิทธิเด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก(ประเทศไทย)จะชูประเด็นเรื่อง สุขภาพจิตในกลุ่มเด็กและเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยมีเรือธงที่จะสร้างความตระหนักรู้และการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเกี่ยวกับสุขภาพจิตของเด็กที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จากความไม่เท่าเทียมและการถูกกีดกัน

สัปดาห์สุขภาพจิตปีนี้ กรมสุขภาพจิต จึงขอสนับสนุนสังคมกระตุ้นภูมิคุ้มใจ “วัดใจ เติมพลัง สังคมมีสุข” รณรงค์ให้ประชาชนสามารถตรวจคัดกรองสุขภาพจิตทางคิวอาร์โคด MHCI ผ่านไลน์แอพลิเคชั่นพร้อมรับทราบผลการคัดกรอง คำแนะนำเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง และให้กำลังใจแก่กลุ่มเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงให้การยอมรับและเปิดโอกาส แสดงออกถึงตัวตนของตัวเองอย่างมั่นใจ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน โรงเรียน ชุมชน หรือทุกที่ในสังคม เพื่อให้มีสุขภาพจิตและสุขภาวะที่ดีและร่วมสร้างสังคมที่มีสุขต่อไป ให้
ร่วมเสริม “กำลังใจ” ให้เยาวชนไทย สร้าง “ภูมิคุ้มใจ” ยอมรับ เคารพ ต่อตนเอง และ รับผิดชอบ สร้างสรรค์ ต่อสังคม

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส