ลอยกระทง ปี 2566 ประวัติ ความเป็นมา และพิธีกรรมวันลอยกระทง

25 ต.ค. 66

วันลอยกระทง ประวัติ ความเป็นมา พิธีกรรม และความเชื่อในวันลอยกระทง

วันลอยกระทง ปีนี้ ตรงกับวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2566 สำหรับประวัติ ความเป็นมา พิธีกรรม และความเชื่อในวันลอยกระทง มีดังนี้

ความเป็นมาของวันลอยกระทง

ประเพณีลอยกระทง ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่เชื่อว่าประเพณีนี้ได้สืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า "พิธีจองเปรียญ" หรือ "การลอยพระประทีป" และมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่า เป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน

กำหนดการวันลอยกระทง

วันลอยกระทงของทุกปีจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย หรือถ้าเป็นปฏิทินจันทรคติล้านนาจะตรงกับเดือนยี่ และหากเป็นปฏิทินสุริยคติจะราวเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเดือน 12 นี้ เป็นช่วงต้นฤดูหนาว อากาศจึงเย็นสบาย และอยู่ในช่วงฤดูน้ำหลาก มีน้ำขึ้นเต็มฝั่ง ทำให้เห็นสายน้ำอย่างชัดเจน อีกทั้งวันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง ทำให้สามารถเห็นแม่น้ำที่มีแสงจันทร์ส่องกระทบลงมา เป็นภาพที่ดูงดงามเหมาะแก่การชมเป็นอย่างยิ่ง

พิธีกรรมวันลอยกระทง

ประชาชนจะจัดทำกระทงเป็นรูปต่างๆ ด้วยใบตอง หรือกาบใบต้นพลับพลึง หรือวัสดุอื่นๆ ที่ย่อยสลายง่าย ประดับตกแต่งกระทงให้สวยงามด้วยดอกไม้สด พร้อมปักธูปเทียน บางทีก็ใส่เงินลงไปด้วย โดยจุดธูปเทียน กล่าวอธิษฐานตามที่ใจปรารถนาและปล่อยกระทงให้ลอยไปตามแม่น้ำลำคลอง

ความเชื่อของการลอยกระทง

1. เชื่อว่าเป็นการบูชาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวิธีหนึ่ง โดยใช้น้ำที่ไหลไปเป็นพาหนะนำกระทง ดอกไม้ ธูป เทียน ไปสักการะพระองค์
2. เชื่อว่าเป็นการลอยความทุกข์โศกของตนที่มีอยู่ให้ออกไปจากตัวกับสายน้ำที่ไหลไป พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานขอพรกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ตนและครอบครัวได้รับแต่สิ่งที่ดี
3. เชื่อว่าเป็นการขอขมาต่อน้ำโดยเฉพาะแม่น้ำลำคลองซึ่งมีคุณอย่างอเนกอนันต์ทั้งเรื่องใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการเพาะปลูก การคมนาคม ถือว่าเป็นการกระทำล่วงเกินความสกปรก จึงได้ทำพิธีขอขมาอย่างเป็นพิธีการอย่างน้อยปีละครั้ง

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม