"โจ นักสืบหัวปลาหมึก" เมื่อศิลปะไม่มีกรอบจำกัด

12 ต.ค. 65

“ผมมีความรู้สึกว่า เวลาเราทำงาน ถ้าเรามีโอกาสได้ทดลอง เราควรจะคว้าโอกาสนั้นไว้  อย่าปิดกั้นโอกาสตัวเอง  คนเราชอบคิดไปว่าเรามีสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดแค่อย่างเดียว แต่บางทีเราอาจจะลืมมองก็ได้ว่าสิ่งที่เราไม่ชอบ เราก็ทำได้ดีเหมือนกันนะ...” 

หากคุณเป็นแฟนการ์ตูนยุค 90 หรือแม้แต่คอการ์ตูนไทยพันธุ์แท้ ชื่อของการ์ตูน JOE the SEA-CRET Agent  หรือ นักสืบหัวปลาหมึก คงเป็นอีก 1 เรื่องที่อยู่ในใจใครหลายๆคน 

ใครจะคิดว่าจากความชื่นชอบการดูการ์ตูน  และการชอบวาดรูปเล่นลงในหนังสือเรียนตอนเด็ก  จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นการเป็นนักวาดเส้นอาชีพ  ของ สุทธิชาติ ศราภัยวานิช  จนสร้างทั้งรายได้และแรงบันดาลใจให้กับใครอีกหลายๆคนที่คอย ติดตามผลงาน

 

ในงาน Sustainability Expo 2022 เวที Art Talk วาดเส้นให้เป็นอาชีพ เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา  สุทธิชาติ หรือที่หลายคนเรียกเขาว่า อาจารย์โจ ได้ขึ้นเวทีสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่  เขาเปิดใจเล่าถึงเส้นทางกว่าที่จะมาเป็นนักวาดการ์ตูนให้ฟังว่า จุดเริ่มเล็กๆที่ไม่ต่างจากเด็กทั่วไป คือการตื่นมาดูการ์ตูนทุกเช้าเสาร์-อาทิตย์ และการชอบวาดรูป แต่ตัวละครหลักที่เขาหลงใหล กลับไม่ใช่ตัวเอกของเรื่อง แต่เป็นผู้ร้ายที่รูปลักษณ์แตกต่างกันไปในแต่ละตอน  ซึ่งต่อมาความชื่นชอบแบบเด็กๆนี้  ซึมซับและกลายเป็นสิ่งที่จริงจังไปโดยไม่รู้ตัว  จนนำพาตัวเขาเข้าสู่เส้นทางการเป็นนักวาดการ์ตูน

 

ผมชอบวาดรูปบนหนังสือเรียน  เพราะจะทำให้ครูรู้สึกว่าเราตั้งใจเรียน  เทคนิคของผมคือต้องนั่งกลางห้อง  เพราะถ้านั่งหน้าห้องหรือนั่งหลังห้อง นั่งแบบนั้นขยันยังไงก็จะดูไม่ตั้งใจ 

สาเหตุที่ชอบวาดการ์ตูนบนหนังสือเรียน เพราะเริ่มรู้สึกว่ามีวิชาที่เราไม่รู้ว่าว่าเรียนไปทำไม...พอวันเสาร์อาทิตย์ดูการ์ตูน เราก็จะเอาสิ่งที่เราดูในทีวี มาวาดบนหนังสือเรียน พอครูเดินมาเราก็พลิกไปหน้าอื่น ไม่ให้ครูเห็นว่าวาดการ์ตูน  ทำอย่างนี้จนเป็นนิสัย  หนังสือผมนี่ให้น้องสาวยืมต่อไม่ได้ เพราะมันเต็มไปด้วยตัวประหลาด  ผมวาดแต่ตัวประหลาดตอนเด็ก

เพราะเวลาดูหนังญี่ปุ่น ไอ้มดแดง ไอ้หุ่นยนต์บ้าง ผมไม่ชอบตัวเอกเลย เพราะว่ามันมีดีไซน์เดียว มีแบบเดียว ผมชอบตัวประหลาดมาก  ชอบผู้ร้าย เพราะเปลี่ยนดีไซน์ไปเรื่อยๆ สิ่งที่ผมวาดก็คือตัวประหลาดล้วนๆ  วาดอย่างนี้มาจนมัธยม”

 

จากเด็กเรียนสายวิทย์ เบนไปเรียนต่อสายศิลป์เมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ที่ ม.ศิลปากร เพราะความชื่นชอบในงานศิลปะ เขานำภาพที่วาดทั้งหมด มาตัดเก็บรวมเล่มไว้ นอกจากภาพการ์ตูนที่วาดตามจินตนาการแล้ว ยังมีภาพที่วาดแทนตัวเพื่อน ภาพที่วาดแทนความรู้สึกของตัวเองในตอนนั้น   สมุดรวมตัวประหลาดที่วาด จึงไม่ต่างจากไดอารี่เก็บบันทึกเรื่องราวต่างๆของชีวิต ที่ผ่านมาในแต่ละช่วงวัย

 

“ การวาดเล่นของผมปัจจุบันมันเรียกว่า Doodle Art คือการวาดเล่นโดยที่เราไม่คิดอะไรมาก  ไม่ได้ออกแบบมาก่อน  ไม่ได้วางแผนมาก่อน ใครที่ชอบวาดภาพอะไรที่เรารู้สึกว่าแปลกใหม่ ลองใช้วิธีนี้ดู คือวาดเล่นโดยไม่คิดอะไร  โทรศัพท์คุยกับแฟน ก็วาดรูปไปได้  บางทีมันดีกว่าเวลาที่เราตั้งใจออกแบบเสียอีก และมันเหมือนบันทึกชีวิต    

อย่างรูปที่เป็นหัวฟุตบอล ผมวาดเพื่อรำลึกถึงเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่จากไป เขาชื่อบอล ทุกอย่างมันเลยเป็นบอลหมด พอมาดูก็ยังนึกถึงเพื่อนคนนี้ ผมว่ามันเป็นอารมณ์คล้ายๆไดอารี่ของผม  แต่มันคือการวาดเล่น ซึ่งสมุดเล่มนี้เพื่อนผมหลายๆคนจะชอบยืมไปดู เหมือนเป็น Art Book ผมก็ให้ยืม ก็ไม่ได้ห่วง เพราะไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็น portfolio หรืออะไรที่มันต้องหวง”

 

สมุดรวมภาพวาดเล่มนี้  สร้างให้เกิดจุดเปลี่ยนในชีวิต ทำให้เขาได้กลายเป็นนักวาดการ์ตูนที่มีคนรู้จัก

 

“ตัวการ์ตูนสีฟ้า ที่เหมือนปลาหมึกตาเดียวตัวนี้นี่แหละครับ  เป็นรูปที่ผมวาดเล่น เพื่อนผมคนหนึ่งที่เรียนมหาลัยมาด้วยกัน ได้ไปทำงานกับพี่บอย โกสิยพงษ์  วันหนึ่งสมุดเล่มนี้ไปถึงมือพี่บอย แกได้เห็นแล้วแกชอบตัวนี้ ผมก็ไม่เคยถามแกเหมือนกันว่าทำไม แกบอกตัวนี้น่าเอามาเขียนเป็นการ์ตูน ผมจำได้แม่นเลย เพราะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต ที่ทำให้ได้เป็นนักเขียนการ์ตูนมาตั้งแต่ในวันนั้น”

ภาพที่เขายังจำได้ไม่ลืม คือบ่ายของวันหนึ่ง ที่กำลังง่วง ได้รับสายโทรศัพท์จาก บอย โกสิยพงษ์  ชวนไปเขียนการ์ตูน โดยที่ยังไม่ได้คุยรายละเอียดใดๆ เขาก็ตัดสินใจเดินไปบอกหัวหน้าว่าขอลาออกจากงาน

 

“ ผมไม่ได้ถามเลยว่าเงินเดือนเท่าไหร่ ทำที่ไหน ยังไง  วางสายจากพี่บอยปุ๊บ ผมเดินไปชั้น 1 ขอลาออกครับ ผมไม่รู้หรอกว่าจะต้องทำอะไรบ้าง แต่จำได้ว่ามีความรู้สึกว่า ถ้าผมไม่ลอง ไม่เขียนการ์ตูน ผมจะไม่ได้ลองแล้ว ผมคิดว่าทุกคนจะมีจุดเปลี่ยนอะไรแบบนี้สักครั้งหนึ่ง”

 

นิตยสาร Katch ของ บอย โกสิยพงษ์ ถือเป็นนิตยสารวัยรุ่นที่โด่งดังมากในยุคนั้น  ซึ่งเขาบอกว่าเมื่อต้องมาเขียนการ์ตูนเป็นเรื่องราว  ทำให้พบว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องปรับตัวเองอย่างมาก  

 

“ผมจะคิดตัวละครมาก่อน  แล้ววางบทบาททีหลัง  ถ้าวาดออกมา แล้วดูเหมือนตัวร้าย ก็ให้เป็นตัวร้าย คาแรคเตอร์ผมมันจะประหลาด อย่างที่บอกว่าผมจะเขียนการ์ตูนเป็นตัวประหลาด  เพราะผมรู้สึกว่าผมไม่ค่อยมีปัญหากับการเอาอะไรมาผสม สำหรับผมความประหลาดเป็นเรื่องปกติ  ตัวประหลาดทุกตัวของผมมันมีความรู้สึกที่แสดงออกมาได้”

 

อย่างเจ้าพ่อปู ที่เขาตั้งใจให้เป็นทุกอย่างประหลาดหมด บนหัวก็จะมีหัวเล็กๆ แสดงอารมณ์ได้อีก ตรงหน้าอกก็มีแขน แต่จริงๆถ้าดูใกล้ๆ มันจะมีมืออยู่ตรงปากด้วย   ไม่มีอะไรที่ถูกกฎเกณฑ์ของตัวละครเลย แต่ผู้อ่านก็ไม่เคยมีปัญหากับตัวละครนี้

หรืออย่างตัวละคร 12 พี่น้อง ที่ชื่อว่าครอบครัวสูตรคูณ เป็นครอบครัวนักฆ่า พี่น้องทุกคนจะเกิดมาพร้อมกับสูตรคูณประจำตัว น้องเล็ก ทุกอย่างในชีวิตจะเกี่ยวกับสูตรคูณแม่สอง  อยากเป็นนักการธนาคาร เลยหนีออกจากบ้าน แต่ไปทำงานอย่างอื่นไม่ได้  ไปอยู่ร้านสะดวกซื้อ ก็ทอนเงินเป็นเลขคี่ ทอนให้ถูกไม่ได้ สุดท้ายก็ถูกไล่ออก ต้องเปลี่ยนมาทำอาชีพเป็นนักฆ่า

หรืออย่างพี่สาม เป็นตัวละครที่ทุกอย่างบนตัวทำให้เป็น 3 ได้เป็น มีตาปลอม หนวดมี 6 แต่ตัดให้เหลือ 3  เจาะรูจมูกให้เป็น 3 นิ้วตัดให้เหลือ 3  ผมก็คิดว่าอยากให้แขนกับเท้ามี 3 ด้วย แต่จะเอามาติดเป็นขาปลอมแขนปลอม ก็ประหลาดไป  ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการให้เป็นรอยสักแทน สุดท้ายทุกอย่างบนตัวก็เป็นเลข 3 

 

ผมรู้จากความรู้สึกว่าผมไม่ค่อยมีปัญหากับการเอาอะไรมาผสมกับอะไร  เพราะผมถือว่าความ “ประหลาด” เป็นเรื่องปกติ  แต่เวลาผมสอนลูกศิษย์ บางคนก็จะมีกำแพงว่า อันนี้เอามารวมกับอันนี้ไม่ได้หรอก มันไม่น่าจะดี แต่ผมไม่เคยมีกับปัญหากับอะไรพวกนี้เลย คนอ่านก็ไม่เคยมีปัญหากับอะไรกับความประหลาดของตัวละครผม

การ์ตูนมันเป็นศาสตร์ที่มีทักษะของมัน การเลือกว่าจะเล่ารูปอะไรในช่องไหน มีกี่ช่อง มีกี่หน้า มันเป็นศาสตร์ที่ผมต้องมาทำความเข้าใจใหม่ ตอนที่เขียนการ์ตูนเรื่องนี้ 30 หน้า ผมใช้เวลา 1 เดือนเต็มๆ ไม่ทำอะไรเลย ตื่นมา เขียน กินข้าว นอน ทำวนไปมาแบบนี้  30 วัน 30 หน้า ทำให้ผมรู้ว่าจริงๆการ์ตูนมันเขียนอย่างนี้ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นอย่างหนึ่งว่า ถ้าอยากเขียนการ์ตูน ลองเขียนการ์ตูนอยู่ที่บ้านขึ้นมาสักตอนหนึ่ง ก็จะเขียนเป็น”

 

เขายอมรับว่าหากย้อนกลับไปดูที่ผลงานเขียนการ์ตูนในตอนแรก ชีวิตช่วงนั้นไม่ต่างจากการเข้าโรงเรียน  เพราะได้เรียนรู้ทุกอย่างในการเขียนการ์ตูน บางอย่างก็เอามาใช้สอนจนถึงทุกวันนี้ จุดเด่นอีกอย่างคือความชอบผสมผสานความรุนแรงกับมุกตลกเข้าด้วยกัน

“  เวลาเราทำงาน ถ้าเรามีโอกาสได้ทดลอง เราควรจะคว้าโอกาสนั้นไว้  อย่างมีครั้งหนึ่งที่ออฟฟิทเขาหาคนมาปั้นโมเดลตัวละครกับตัวเรื่องนี้ มันสวยมากเลย ผมก็เอาโมเดลพวกนี้ มาถ่ายรูป แล้วก็เอามาซ้อนกับฉากที่ผมทำเอง  แล้วทำเป็นการ์ตูนตอนพิเศษขึ้นมา  ซึ่งใช้เวลานานมากเพราะว่าสเกลการ์ตูนแต่ละตัวไม่เท่ากัน  ทำให้ต้องเอามาแยกจัดไฟให้แต่ละตัว  นั่งรีทัช  แต่มันเป็นการทำงานครั้งหนึ่งที่ผมได้เปิดพื้นที่ใหม่ๆ ทดลองทำอะไรใหม่ๆ กล้าที่จะทำอะไรที่ไม่เหมือนใคร”

 

ยุคแห่ง Disruption ไม่ได้เกิดขึ้นกับวงการใดวงการหนึ่งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวงการสิ่งพิมพ์และนักเขียนการ์ตูนด้วย  นิตยสารหลายเล่มต้องปิดตัวลง รวมถึง นิตยสาร Katch ทำให้เขาหันมาร่วมกับเพื่อนๆ วาดการ์ตูนลงหนังสือทำมือเพื่อสานต่อความฝัน โดยเปิดเป็นสำนักพิมพ์ ชื่อ หัวปลาหมึก

แต่ถามว่าผมอยากเปลี่ยนแปลงการ์ตูนของผมให้มันเข้าถึงง่ายขึ้นไหม  เขียนตัวละครให้น่ารักมากขึ้นไหม ผมเคยถามตัวเองเหมือนกัน...แต่ทำไม่ได้ ผมว่าการ์ตูนผมมันต้องเป็นแบบนี้แหละ

 

แม้วันนี้บทบาทหน้าที่หลักของเขาคือการเป็น อาจารย์หัวหน้าสาขาวิชาคอมพิวเตอร์อาร์ต  คณะดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต  แต่ยังคงทำงานด้าน Illustration  โดยยังคงมีแคมเปญร่วมกับแบรนด์ดัง อย่าง GREYHOUND และ product ต่างๆอีกหลายงาน

“ คนที่เคยอ่านการ์ตูนของผม ทุกวันนี้โตมาจนเป็นผู้ประกอบการหมดแล้ว แต่เขายังจำงานตัวนี้ได้  เขาชอบการ์ตูนเรื่องนี้ ก็ได้ร่วมงานกัน ซึ่งผมก็พยายามวาดออกมาเรื่อยๆ ทำให้มีโอกาสได้ไปร่วมงานกับหลายๆแบรนด์ บางชิ้นงานก็ได้เป็นคอนเนคชั่นเพื่อนกันต่อไปด้วย  เหล่านี้มันคือตัวประหลาดของผม ที่ผมชอบวาดตั้งแต่เด็ก สุดท้ายวันหนึ่งมันก็สามารถมีมูลค่าขึ้นมาได้ เพราะเรายังเผยแพร่มันอยู่  แต่ก็ไม่ใช่ทุกงานที่จะสำเร็จ งานที่ดิวไว้บางงานก็ไม่ได้เผยแพร่ ซึ่งถามว่าเสียดายไหม ก็เสียดาย แต่ก็ไม่เป็นไร”  

 

หากถามว่างานที่ทำทุกวันนี้ ทำให้ต้องทิ้งสิ่งที่รักไปเลยหรือไม่ เขายืนยันว่า ไม่ แม้จะมีงานหลักคือการสอนหหนังสือ แต่ก็ยังใช้หลักทักษะเดียวกันกับการวาดการ์ตูน        

 

“สิ่งหนึ่งที่ผมอยากบอกคือ จริงๆแล้วคนเราชอบคิดไปว่าเรามีสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดแค่อย่างเดียว แต่ผมเจอหลายคนที่รู้สึกว่าในสิ่งที่เราทำดีที่สุดนั้น แต่บางทีเราอาจจะลืมมองก็ได้ ว่าสิ่งที่เราไม่ชอบ เราก็ทำได้ดีเหมือนกันนะ... ทุกวันนี้ถึงแม้ผมจะมีงานหลักคือการสอนหนังสือ  ก็ยังคงใช้สกิลเดียวกับการ์ตูนเลย สไลด์ที่สอน ผมวางดีไซท์เหมือนการ์ตูน มีการปูเรื่อง ไคลแม็ค มีช่วงหักมุม มีช่วงขมวดไม่ต่างกัน

 

ผมไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำทุกวันนี้มันเรียกว่า “ยั่งยืน” หรือเปล่า ผมเคยนั่งถามตัวเอง แต่คิดว่าคำหนึ่งที่ตรงกว่าคือ “ดื้อ” ที่จะทำ  แม้การ์ตูนของผม มันจะไม่ตอบโจทย์ตลาด  แต่มันก็มีคุณค่าพอ ผมก็ยังดื้อทำมันต่อไป โดยการหางานอื่นทำ เพื่อให้เราเลี้ยงชีพได้ไปด้วย มันก็เป็นความดื้อรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน

แต่ฝากไว้อย่างเดียวว่าอย่าถึงขั้น “ดื้อด้าน”  ถ้าดื้อด้าน อารมณ์ประมาณว่าเราด้าน เราคิดว่าเราดี แต่จริงๆแล้วความดื้อในที่นี้ เราต้องถามตัวเองตลอดเวลาว่าเราต้องพัฒนาอะไรอีกหรือเปล่า แล้วสิ่งที่ทำมัน “ใช่” หรือเปล่า ทุกอย่างต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่ใช่จะคิดแค่ว่าได้ “ทำ” อย่างเดียว”

คนที่รักงานสายวาดนะครับ คุณวาดรูปอย่างเดียวไปเรื่อยๆ คุณอาจจะวาดเก่ง แต่คุณก็ไม่เก่งไปไหนไกลกว่านั้นหรอก ถ้าคุณไม่เคยถามตัวเองว่ารูปก่อนหน้านี้  เราจะวาดให้มันดีขึ้นได้อย่างไร 

การที่เราวาดรูปเดียว วาดไปเรื่อยๆ มันคือดื้อด้าน  แต่การวาดรูป แล้วคอยถามตัวเองว่าจะวาดให้ดีขึ้นได้อย่างไร...ผมว่านั่นเรียกว่าความยั่งยืน”  สุทธิชาติ นักเขียนการ์ตูนชื่อดังกล่าวทิ้งท้ายให้คิด

 

1

 

2

 

3

 

 

4

 

 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม