จีนพบ "ไวรัสเลย์วี" คาดมี "หนูผี" เป็นพาหะ ยังไม่มีรายงานติดจากคนสู่คน

13 ส.ค. 65

กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์หลังจีนพบผู้ป่วยติดเชื้อ "ไวรัสเลย์วี" ระบาดจากสัตว์สู่คน ซึ่งหนูผี อาจเป็นพาหะ ยังไม่มีรายงานติดจากคนสู่คน

 

เมื่อวันวันที่ 12 สิงหาคม 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศจีนได้เผยแพร่รายงานว่าตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสเลย์วี (LayV) เป็นครั้งแรก ซึ่งผู้ติดเชื้อมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร อาศัยอยู่ในพื้นที่หลายจังหวัดของมณฑลซานตงและเหอหนาน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน คณะนักวิทยาศาสตร์พบว่าเชื้อไวรัสเลย์วีมีแนวโน้ม แพร่ระบาดจากสัตว์สู่คน และได้นำสัตว์ป่ามาตรวจหาเชื้อไวรัสเลย์วี และพบการติดเชื้อในหนูผี (shrew) ร้อยละ 25 จากทั้งหมด 262 ตัว ผลวิจัยในครั้งนี้บ่งชี้ว่า หนูผี อาจเป็นพาหะในการแพร่เชื้อตามธรรมชาติ และยังพบสัตว์อื่นๆ ที่ติดเชื้อคือ แพะ ร้อยละ 2 และสุนัข ร้อยละ 5

 

“ไวรัสเลย์วีอยู่ในกลุ่มเดียวกับ ไวรัสนิปาห์ (Nipah) และไวรัสเฮนดรา (Hendra) ซึ่งยังไม่มีหลักฐานพบการแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง อ่อนเพลีย ไอ เบื่ออาหาร และปวดกล้ามเนื้อ และยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสเลย์วี เพราะเชื้อไวรัสชนิดนี้ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือมีอาการรุนแรง และไม่ควรตื่นตระหนกต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสดังกล่าว” นายแพทย์โอภาส กล่าว

 

ไวรัสเลย์วี (LayV) คืออะไร ? 

 

สำหรับไวรัส เลย์วี หรือ LayV ชื่อเรียกเต็มๆ ของมันคือ “Langya henipavirus” อยู่ในกลุ่มเดียวกับ ไวรัสนิปาห์ (Nipah) และไวรัสเฮนดรา (Hendra) เป็นเชื้อไวรัสที่มีการรายงานว่าติดจากสัตว์สู่คน โดยคาดว่ามีหนูผีเป็นพาหะ 

 

"หนูผี" (Shrew)

 

"หนูผี" (Shrew) ที่ต้องสงสัยว่าเป็นพาหะในการนำเชื้อ เป็นสัตว์ที่ถูกจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับตัวตุ่น ถึงแม้จะมีหน้าตาที่คล้ายกับหนูก็ตาม และลักษณะของหนูผีจะมีหน้าที่เหมือนหนูขนาดเล็ก แต่แหลม พบได้ทั่วโลก

หนูผี

advertisement

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส