ศาลสั่งคุก 1 ปี ปรับ 2 แสน "ธณิกานต์" ส.ส.พลังประชารัฐ ปมเสียบบัตรเเทนกัน

3 ส.ค. 65

ศาลฎีกานักการเมืองสั่งจำคุก 1 ปี ปรับ 2 เเสน "ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์" ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ กรณีเสียบบัตรเเทนกัน

 

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 19/2564 คดีที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (ตำแหน่งขณะก่อนถูกสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่) โดยโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2562 เวลากลางวัน จำเลยดำรงตำแหน่ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ 7 (บางซื่อ – ดุสิต) กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นเจ้าพนักงานของรัฐลงชื่อเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1ครั้งที่ 14 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ซึ่งมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. ...

 

องค์คณะผู้พิพากษาวินิจฉัยแล้วเห็นว่า ในวันประชุมดังกล่าว น.ส.ธณิกานต์ ไม่ได้ลาประชุม แต่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม จำเลยฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติของจำเลยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น หรือบัตรของจำเลยอยู่ในความครอบครองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นโดยความยินยอมของจำเลย เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้นใช้บัตรของจำเลยกดปุ่มแสดงตนและลงมติแทนจำเลย

 

271132305_1346284235793296_59

 

การกระทำของจำเลยจึงก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน และสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นองค์กรที่ทําหน้าที่นิติบัญญัติแล้ว แม้จะไม่ทำให้กระบวนการตรากฎหมายเสียไปการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และการที่จำเลยซึ่งมีหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ แต่กลับฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยกับ ส.ส. รายอื่นหรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยไปอยู่ในความครอบครองของ ส.ส.รายอื่น โดยจำเลยยินยอมให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยแสดงตนและลงมติแทนจำเลย เป็นผลให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรณีที่จำเลยอาศัยโอกาสในการปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง

 

ถือได้ว่าเป็นการปฎิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตด้วย อย่างไรก็ตามมูลเหตุที่ทำให้จำเลยกระทำความผิดครั้งนี้เกิดจากจำเลยต้องไปเป็นวิทยากรในงานเสวนาแบ่งปันความรู้บทบาทแม่ยุคดิจิทัลที่ห้องประชุมชั้น 5 สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ ตามโครงการกิจกรรมเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับแม่และเด็กในชุมชน หัวข้อเรื่องการเลี้ยงดูลูกในยุคสมัยดิจิทัล ที่จัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. ... ซึ่งเป็นกฎหมายที่สำคัญ ประกอบกับร่าง พร..บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. ... ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว

 

211330984_1178020689371265_23_1

 

พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรงมากนัก เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำผิดหรือได้รับโทษจำคุกมาก่อน กรณีมีเหตุสมควรปราณีแก่จำเลยเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ เห็นควรลงโทษปรับจำเลยในสถานหนัก พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 จำคุก 1 ปี และปรับ 2 เเสนบาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30 กรณีต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังไม่เกิน 1 ปี

 

ส่วนอีกคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา ฐานความผิดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงนั้น คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างที่ศาลฎีกานัดพร้อม ในวันที่ 16 สิงหาคม 2565 นี้

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม