'หมอเก่ง' ชี้ 'อนุทิน' จงใจสร้างสุญญากาศทางกฎหมายคุมกัญชา เปิดช่องปล่อยของให้พวกพ้อง

19 ก.ค. 65

หมอวาโย พรรคก้าวไกล ชี้ อนุทิน จงใจสร้างสุญญากาศทางกฎหมายควบคุมกัญชา กำหนด KPI ให้รพ.ตั้งคลินิกกัญชา เปิดช่องพวกพ้องปล่อยสินค้าค้างสต็อก

 

นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า อนุทิน จงใจสร้างสุญญากาศทางกฎหมายในการควบคุมกัญชา จนทำให้เกิดความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชน เสี่ยงมีปัญหาทางการทูต การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ



ในขณะที่ อนุทิน อ้างว่า การปลดล็อกกัญชานั้นเป็นการปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์ แต่ที่ผ่านมา อนุทินได้โฆษณาชวนเชื่อกับประชาชนว่าทุกคนจะปลูกกัญชาได้จนร่ำรวย สามารถนำกัญชาไปผสมอาหารหรือเสพได้ ซึ่งเหล่านี้ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของกัญชาทางการแพทย์เลย



ที่ผ่านมา กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เรื่อยมาจน 18 กุมภาพันธ์ 2562 ที่เริ่มปลดล็อคกัญชาทางการแพทย์ โดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 จากนั้นไม่นาน อนุทิน ชาญวีรกุล เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 และได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ว่า วัตถุหรือสารในพืชกัญชา ที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ และมีสาร THC ไม่เกิน 0.2% ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5



ต่อมาวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ได้มีการประกาศให้ใช้ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ซึ่งประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ฉบับใหม่นั้นให้อำนาจรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขสามารถระบุชื่อยาเสพติดให้โทษได้ อนุทิน จึงออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 โดยไม่ได้รวมส่วนของพืชกัญชา เช่น ดอก กิ่ง ก้าน ราก ใบ เข้าเป็นยาเสพติดให้โทษ แต่เฉพาะสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงที่มี THC เกิน 0.2% และไม่ได้รับอนุญาตให้สกัด หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชากัญชงที่ปลูกในต่างประเทศ ที่ยังถือเป็นยาเสพติดให้โทษ โดยประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา



ภายหลังในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เมื่อพืชกัญชาและกัญชงได้ถูกปลดล็อกไปแล้ว แต่กลับไม่มีกฎกระทรวง หรือกฎหมายย่อยใด ๆ เข้ามาควบคุมการใช้ประโยชน์ทางสันทนาการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการควบคุมอายุของผู้ครอบครอง การซื้อขาย หรือการควบคุมการใช้ส่วนของกัญชานอกเหนือจากจุดประสงค์ทางการแพทย์ เกิดเป็นสุญญากาศทางกฎหมาย จนสร้างความกังวลให้กับประชาชนจำนวนมาก อนุทิน จึงออกประกาศปาหี่ตบตาประชาชน แสร้งว่ามีการควบคุมแล้ว ด้วยประกาศเป็นเหตุรำคาญ ซึ่งไม่มีสภาพบังคับใช้จริง และประกาศเป็นสมุนไพรควบคุม ซึ่งห้ามสูบในที่สาธารณะ ห้ามจำหน่ายให้กับคนอายุต่ำกว่า 20 ปี และห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์เท่านั้น



นพ. วาโย ได้ตั้งข้อสังเกตว่า อนุทิน จงใจสร้างสุญญากาศทางกฎหมาย เพราะในระหว่างที่ปลดล็อกกัญชากัน กลับเพิ่งมีการยื่น ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง เข้าสภาในวันที่ 26 มกราคม 2565 เมื่อเป็นร่าง ฯ เกี่ยวด้วยการเงินก็ต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่รัฐมนตรีประกาศปลดกัญชาออกจากยาเสพติด เมื่อนายกรัฐมนตรีอนุมัติและส่งกลับมาก็ปิดสมัยประชุมไป 3 เดือน เพิ่งจะได้บรรจุเข้าวาระปลายเดือนพฤษภาคม และรัฐสภาพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 หรือเพียง 1 วันก่อนครบกำหนด 120 วันที่จะถอดกัญชาออกจากยาเสพติดฯ



“ทำไมท่านไม่แก้ไขประกาศสาธารณสุขวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ยืดระยะเวลาออกไปจาก 120 วัน แค่นั้นเอง หรือหลังจากวันที่ 8 กุมภาพันธ์เห็นแล้วว่ากฎหมายผ่านไม่ทัน ท่านก็แค่ยกเลิกประกาศให้ใช้ประกาศเดิม รอจนกว่าจะมีกฎหมายควบคุมกัญชาแต่ท่านไม่ทำ” นพ. วาโย กล่าว

 

ที่ผ่านมา อนุทิน ส่งเสริมการผลิตกัญชา โดยอ้างว่าเพื่อรองรับการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ โดยผูกให้วิสาหกิจชุมชน 1 แห่งทำร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 1 แห่งเท่านั้น และให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้รับซื้อ แต่สุดท้าย อย. ไม่ได้รับซื้อในจำนวนที่คาดไว้ เพราะหมอไม่ใช้ นักวิจัยไม่เขียนโครงการ จึงต้องหาช่องทางปล่อยของ

 

นพ.วาโย ยังได้นำเอกสารสรุปผลการตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2564 ในประเด็นกัญชาทางการแพทย์ ที่ชี้ให้เห็นความพยายามจะเพิ่มดีมานด์กัญชาเพื่อการแพทย์ เพราะมีการตั้งเกณฑ์เป้าหมายในการจัดตั้งคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในแต่ละปี โดยภายในปี 2567 โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) และสังกัดกรมวิชาการจะต้องมีคลินิกกัญชาทั้งหมด และสถานพยาบาลเอกชนจะต้องมีคลินิกกัญชาเขตสุขภาพละ 10 แห่ง

 

นพ. วาโย ย้ำว่า พรรคก้าวไกลสนับสนุนการปลดล็อกกัญชาทั้งทางการแพทย์และเพื่อสันทนาการ แต่จำเป็นต้องมีการควบคุมอย่างเหมาะสม เพราะแม้กัญชาจะมีประโยชน์ในการรักษาบางโรค แต่ก็มีหลักฐานยืนยันโทษของกัญชาเช่นกัน โดยเฉพาะกับพัฒนาการของเด็กและเยาวชน

 

นอกจากนี้ การปล่อยให้ไม่มีการควบคุมกัญชาจนร้านค้านำไปผสมอาหารโดยไม่แจ้งผู้บริโภค จนทำให้เกิดความหวาดกลัวผลข้างเคียงของกัญชา ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานหรือท่องเที่ยวไทยก็กลัวว่าหากกินอาหารที่ผสมกัญชาเข้าไปโดยไม่รู้ตัวก็อาจเกิดปัญหากับประเทศต้นทาง จนอาจกระทบกับการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยอย่างมากด้วย




สิ่งที่แนบ: เอกสารการตั้ง KPI คลินิกกัญชาทางการแพทย์

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส