ผลวิจัยชี้วัคซีนเชื้อตาย ปลอดภัยสูง-เสี่ยงต่ำ ป้องกันโควิด-19 ในเด็กสูงถึง 90%

18 มิ.ย. 65

เมื่อเร็วๆ นี้ ข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขในไทย เผยอัตราสะสมของเด็กอายุ 5-11 ปี ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกอยู่ที่ 55.8% เข็มที่ 2 อยู่ที่ 22.1% และเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีน 28.7% จากตัวเลขข้างต้นแสดงให้เห็นว่ามีเด็กอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน อาจเนื่องมาจากหลายปัจจัย

ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมาจากการที่ผู้ปกครองยังมีความกังวลกับการเลือกรับวัคซีนให้กับบุตรหลานของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลข้างเคียงต่อสุขภาพของเด็กหลังจากฉีดวัคซีน ทั้งผลในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโรคของวัคซีน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัว ที่ต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงจากการติดเชื้อได้

นอกจากนี้ เด็กที่เคยได้รับเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว อาจยังมีความเสี่ยงเกิดอาการแทรกซ้อนหลังติดโควิด-19 อย่างเช่น กลุ่มอาการ MIS-C (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children) ซึ่งมีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจและระบบทางเดินอาหาร และยังมีเรื่องของอาการลองโควิด (Long COVID) ในเด็กที่ยังไม่มีข้อสรุปอย่างแน่ชัด

ล่าสุด ซิโนแวค ไบโอเทค เผยผลงานวิจัยยืนยันถึงประสิทธิภาพของวัคซีนเชื้อตาย หรือ “Inactivated Vaccine” ในผู้ที่ได้รับวัคซีนโดยเฉาะในกลุ่มเด็ก และกำลังกลายเป็นวัคซีนทางเลือกที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ปกครอง อีกทั้งในงานวิจัยยังได้แสดงผลการศึกษาวิจัยรับรองว่า วัคซีนเชื้อตาย มีความปลอดภัยในเด็ก รวมถึงมีการอนุมัติใช้ในเด็กอย่างแพร่หลาย ในหัวข้อ “ความปลอดภัยและการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน และความทนทานของภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในเด็กและวัยรุ่น หลังได้รับวัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac) เข็มที่ 3”

โดยได้ทำการศึกษาในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 3-17 ปี จำนวน 346 คน ผลการศึกษาพบว่าวัคซีนแสดงผลลัพธ์ที่ปลอดภัยในกลุ่มตัวอย่าง พร้อมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันที่ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับครบสามเข็ม โดยติดตามผล 28 วันหลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 เว้นระยะห่างจากเข็มที่ 2 เป็นเวลา 10 และ 12 เดือน พบระดับแอนติบอดีป้องกันเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นกว่า 30 เท่า

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่าวัคซีนเชื้อตายก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดทันทีทั่วไปในระดับที่ไม่รุนแรง (ความรุนแรงระดับ 1) และไม่มีรายงานอาการรุนแรงระยะยาวหลังฉีด ในส่วนของภูมิคุ้มกันโรค พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีระดับการสร้างแอนติบอดี (Seroconversion) ต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดิม และสายพันธุ์โอมิครอนอยู่ที่ 100% และ 90% ตามลำดับ โดยแอนติบอดี ที่ป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดิมเพิ่มขึ้นจากก่อนได้รับวัคซีนกว่า 30 เท่า

นอกจากนี้ ผลการวิจัยจาก Chilean Real-World ประเทศชิลี ซึ่งเป็นประเทศที่มีการฉีดวัคซีนเชื้อตายในเด็ก ยังแสดงผลสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยพบว่าวัคซีนเชื้อตายมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กอายุ 6-16 ปี ได้กว่า 74.5% นอกจากนี้ยังป้องกันอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อและอาการรุนแรงฉุกเฉินได้ถึง 91% และ 93.8% ตามลำดับ สำหรับประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน พบว่าวัคซีนสามารถป้องกันการเข้ารักษาในโรงพยาบาลและอาการรุนแรงฉุกเฉินในเด็กอายุ 3-5 ปี ได้ 64.6% และ 69% ตามลำดับ

ทั้งนี้ วัคซีนเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) สำหรับเด็กไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้วัคซีนเชื้อตายได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยรักษาโรคในเด็ก อย่างโรคโปลิโอและโรคไข้หวัดใหญ่ โดยมีการพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีประวัติก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงทั้งระยะเฉียบพลันและระยะยาว

นอกจากมีการจะใช้ในเด็กแล้ว วัคซีนเชื้อตายยังเป็นวัคซีนชนิดที่นิยมใช้ในกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ เช่น สตรีมีครรภ์และกลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เนื่องจากไม่มีส่วนประกอบของเชื้อไวรัสที่แบ่งตัวได้ (Replicating Virus) ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคเหล่านี้เองได้กลายมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาวัคซีนเชื้อตายเพื่อป้องกันโควิด-19 ในปัจจุบัน

วัคซีนเชื้อตายที่มีการอนุมัติให้ฉีดสำหรับเด็กในประเทศไทย ได้แก่ วัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาร์ม สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ซึ่งวัคซีนซิโนแวคได้รับการอนุมัติให้ฉีดในเด็กและเยาวชนใน 14 ประเทศ อาทิ ชิลี บราซิล และ ฮ่องกง ปัจจุบันถูกแจกจ่ายไปยังกลุ่มเด็กไปแล้วกว่า 260 ล้านโดสทั่วโลก.

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม