แบนฉากพระร้องไห้ หนัง “ไทบ้าน 2.2” ! ผู้กำกับดัง ชี้ ไม่ยุติธรรม ถามทำลายศาสนาตรงไหน (คลิป)

21 พ.ย. 61
จากกรณีภาพยนตร์เรื่อง ไทบ้าน เดอะซีรี่ส์ 2.2 ถูกกองพิจารณาภาพยนตร์สั่งแบน หลังในเรื่องมีฉากพระสงฆ์ร้องไห้หน้าศพด้วยความเสียใจ มองว่าประพฤติไม่เหมาะสม ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ชมและกลุ่มคนสร้างหนังเป็นอย่างมาก
ฉากภาพยนตร์ที่มีปัญหา
โดยภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ดราม่าที่สะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในหลากหลายรูปแบบ เคยเข้าฉายมาแล้ว คือภาคแรก และภาค 2.1 เมื่อปี 2560 และมีกำหนดเดิม จะเข้าฉายภาค 2.2 ในวันที่ 22 พ.ย. 2561
นายปรัญชา ปิ่นแก้ว ที่ปรึกษาสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย
วันนี้ 21 พ.ย. 2561 นายปรัญชา ปิ่นแก้ว ที่ปรึกษาสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวอมรินทร์ทีวี ในฐานะผู้ผลิตภาพยนตร์ว่า หากเปรียบเทียบภาพยนตร์ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2 กับภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ที่ตนเคยทำ อย่างภาพยนตร์เรื่องอาปัติ ถือว่าภาพยนตร์เรื่องไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2 มีเนื้อหาทางพระพุทธศาสนาที่เบาบางมาก ไม่น่าจะถูกแบน เพราะหากมองตามมุมมองของตัวละครที่เป็นพระ ซึ่งในเรื่องเพิ่งจะบวชใหม่ หนำซ้ำคนรักยังมาเสียชีวิต ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่พระจะร้องไห้เสียใจ ซึ่งในแง่ของคนทำหนัง ตนมองว่าควรจะต้องมีสิทธิในการเล่าเรื่อง เพราะคนทำหนังในสังคมเราไม่ได้สร้างหนังที่ทำลายลัทธิทางสังคมอยู่แล้ว และในเมื่อสื่ออื่น ๆ ในประเทศมีการใช้กฎหมายควบคุมกันเอง ตนก็ต้องการให้วงการภาพยนตร์เป็นเช่นนั้นบ้าง ต้องการให้คนทำหนังได้มีโอกาสพิจารณาตัวเอง โดยใช้กฎหมายหรือการฟ้องร้องเป็นตัวตัดสินการทำงานแทนการใช้คณะกรรมการพิจารณาเฉกเช่นปัจจุบัน เนื่องจากการมีคณะกรรมการพิจารณาเช่นนี้ เหมือนถูกละเมิดสิทธิ์ในการสื่อสาร เพราะผู้ชมเองก็ไม่ได้ชมภาพยนตร์แบบเต็มร้อย ส่วนทิศทางการทำหนังในอนาคต ตนเองมองว่าต่อไปคงไม่มีใครกล้าทำหนังที่สุ่มเสี่ยงต่อ 3 สถาบันหลักของไทย แต่อย่างไรก็ตามตนเองเชื่อว่าไม่มีคนทำหนังคนใดที่จะกล้าทำลายสถาบันหลัก อาจจะมีบ้างที่มีเนื้อหาหมิ่นเหม่ แต่ไม่มีใครกล้ามาทำลายอย่างแน่นอน
นายบัณฑิต ทองดี หรือ อ๊อด อดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย
ด้าน นายบัณฑิต ทองดี หรือ อ๊อด อดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เปิดเผยว่า การที่หนังเรื่องไทบ้าน 2.2 ถูกระงับฉาย ไม่สามารถฉายในรอบสื่อมวลชนที่จัดขึ้นวานนี้ได้ (20 พ.ย.) ส่วนตัวได้ดูคลิปภาพยนตร์ช่วงที่มีปัญหาแล้ว ตนมองว่าไม่มีอะไรที่ดูไม่เหมาะสม โดยจุดที่มีปัญหา มีเนื้อหาประมาณว่า ตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องเป็นพระบวชใหม่ เนื่องจากอกหักถูกผู้หญิงทิ้ง แต่ระหว่างบวชผู้หญิงคนนั้นเสียชีวิต และพระรูปนี้ต้องมาสวดพระอภิธรรมในงานศพ ซึ่งหลังพิธีสวดจบ ทำให้พระรูปนี้เกิดอาการเสียใจ ทั้งบรรยากาศงาน ความรักที่มีให้ผู้หญิงที่ตาย ทำให้พระรูปนี้ร้องไห้ออกมา ลักษณะคือเดินเข้าไปที่จุดตั้งศพ ซึ่งตนมองว่าการแสดงออกในภาพยนตร์ของตัวละครนี้ เป็นไปตามธรรมดาของมนุษย์ ที่มีเหตุผล อยากให้ลองคิดถ้าเราเป็นตัวละครตัวนี้ เจอกับเหตุการณ์ลักษณะที่คนรักตาย เราก็คงกลั้นร้องไห้ไม่ได้ การที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ กระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่าฉากนี้ของหนังเป็นการประพฤติไม่เหมาะสม ถึงขั้นต้องแบนหนัง ตนมองว่าไม่ควรแบน เพราะพระเองก็เศร้าได้ ร้องไห้เป็น นายบัณฑิต กล่าวต่อว่า ตนมองว่าไม่ยุติธรรม ไม่มีมาตรฐาน ตนมองว่าการพิจารณาของคณะกรรมการฯ เป็นการพิจารณาจากบุคคล เหมือนเอาบุคคลคนเดียวเป็นศูนย์รวมจักรวาลแบบสุดโต่ง พร้อมบอกว่า หากคนพิจารณาตรวจหนังซึ่งเป็นงานศิลปะ แต่ความคิดไม่มีศิลปะก็ขออย่ามาพิจารณา ให้นอนอยู่บ้าน ตนเองก็เคยพบหนังเกี่ยวกับพระบางเรื่อง ที่แสดงออกให้พระเป็นบุคคลเฮฮา แสดงพฤติกรรมโลดเต้น ไม่สงบ อีกทั้งยังมีหนังบางเรื่องที่พระสงฆ์มองหน้าอกผู้หญิง แต่ฉากเหล่านี้ในหนังก็ยังสามารถฉายได้
พระมหาไพรวัลย์ วรวรรณโณ พระนักคิดนักเขียน วัดสร้อยทอง
ขณะที่ พระมหาไพรวัลย์ วรวรรณโณ พระนักคิดนักเขียน วัดสร้อยทอง ให้สัมภาษณ์ในรายการต่างคนต่างคิด ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ ทีวี ช่อง 34 เวลา 18.50 น. ว่า การจะตัดสินหนังทั้งเรื่องจากฉากเพียงฉากเดียวนั้นอาจไม่เหมาะสม อาตมาเห็นว่า การพิจารณาว่าภาพยนตร์เหมาะหรือไม่นั้น ควรดูจากหลายองค์ประกอบ จึงจะสามารถชี้ถึงภาพรวมของภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ ได้ ส่วนเรื่องพระร้องไห้นั้นเป็นเรื่องปกติมาก เนื่องความรู้สึกของมนุษย์เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ เพียงแต่สังคมอาจไม่เคยเห็นการนำเสนอเรื่องพระสงฆ์ในมุมดังกล่าวเท่าไรนัก แต่ไม่ใช่ว่าไม่มี เพราะขนาดพระอานนท์ซึ่งเป็นพระโสดาบัน ยังร้องไห้ในขณะที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ดังนั้นอาจดูว่าตัวละครพระในเรื่องนั้นร้องไห้เพราะอะไร และสะท้อนสิ่งใดให้กับสังคมมากกว่า นอกจากนี้ อาตมามองว่าเป็นการนำเสนอวิถีชีวิตของพระในวัดต่างจังหวัด ซึ่งเป็นการสะท้อนความจริงของสังคม เพราะพระก็อาจจะไม่ได้มีเพียงมิติของความสำรวมเท่านั้น ซึ่งภาพยนตร์เรื่องอื่นก็นำเสนอยิ่งกว่านี้ พระมหาไพรวัลย์ กล่าวต่อว่า การทำหนังถึงวงการพระสงฆ์ไม่จำเป็นจะต้องเชิดชูเสมอไป เพราะการทำภาพยนตร์เป็นการสะท้อนเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมออกมา ไม่ได้หมายความว่า ภาพยนตร์สร้างภาพของพระออกมาอย่างหนึ่งก่อน แล้วสังคมจึงไปทำตาม ส่วนเรื่องการเซ็นเซอร์ฉากในภาพยนตร์ต่าง ๆ นั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้มีผู้หันมาเคารพศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้นแต่อย่างใด นอกจากนี้ อาตมาก็ยังมีความสงสัยเรื่องการเซ็นเซอร์ว่ามีมาตรฐานอยู่หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่า ภาพยนตร์บางเรื่องที่มีฉากอื่น ๆ ที่อาจเป็นประเด็นในสังคมก็ผ่านรอดการเซ็นเซอร์มาได้

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ