Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
แจ้งข้อหา 7 ตำรวจจราจร ผิดพ.ร.บ.อุ้มหาย คดีทำร้ายปชช. ปมจับรถผิดคัน

แจ้งข้อหา 7 ตำรวจจราจร ผิดพ.ร.บ.อุ้มหาย คดีทำร้ายปชช. ปมจับรถผิดคัน

9 ก.ค. 68
11:18 น.
แชร์

อัยการ-ดีเอสไอ แจ้งข้อหา 7 ตำรวจจราจร ทำผิดพ.ร.บ.อุ้มหาย คดีทำร้ายปชช. ปมจับรถผิดคัน ให้เวลาชี้แจง 15 วัน ก่อนสรุปสำนวนส่งฟ้องศาล 

จากกรณี 7 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบังคับการตำรวจจราจร ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จนถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งกองบังคับการตำรวจจราจรที่ 584/2567 ลงวันที่ 4 ธ.ค.67 จากเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายประชาชน เหตุเกิดบริเวณริมถนนประเสริฐมนูกิจ 

เป็นเหตุให้นายธนานพ เกิดศรี บุตรชายของ พ.ต.ท.ธนชัย เกิดศรี อดีต สว.กก.2 บก.ปทส. ได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 67 เวลาประมาณ 01.40 น. ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 7 ราย ทราบว่าได้เข้าใจผิดคิดว่ารถคันที่นายธนานพ ขับมานั้นเป็นรถที่แหกด่านจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์หลบหนี เนื่องจากเป็นรถยนต์ ยี่ห้อ รุ่น และสีเดียวกันกับรถคันที่แหกด่านหลบหนีไป กระทั่งตำรวจ 7 ราย ถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน 

และต่อมาวันที่ 7 มี.ค. 68 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 134/2567 โดยมี นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานกำกับการสอบสวนคดีความผิดแห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผอ.กองกิจการอำนวยความยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พร้อมด้วยพนักงานอัยการ และเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าทางคดีครั้งที่ 1 และวางกรอบแนวทางการสอบสวนขยายผล รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อพิจารณาความผิดแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง 

กระทั่งวันที่ 18 มิ.ย. 68 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษประชุมสรุปความคืบหน้าทางคดี พร้อมลงมติเเจ้งข้อกล่าวหา 7 เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ตามฐานความผิด พ.ร.บ.อุ้มหายฯ มาตรา 5 คือ ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ก่อนนัดหมายผู้ต้องหาให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 9 ก.ค. 68 ตามที่มีการรายงานข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น 

ล่าสุดเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 9 ก.ค. ที่ ห้องประชุม 1 ชั้น 1 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 134/2567 นำโดย นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานกำกับการสอบสวนคดีความผิดแห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผอ.กองกิจการอำนวยความยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พร้อมด้วยพนักงานอัยการ และเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ร่วมกันแจ้งข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรกลาง 7 ราย ประกอบด้วย 

1.ร.ต.อ.ทวีพงษ์ (สงวนนามสกุล) รอง สว.งานสายตรวจ 1 กก.1 บก.จร. 

2.ส.ต.อ.วีรพงษ์ (สงวนนามสกุล)  ผบ.หมู่ งานสายตรวจ 5 กก.1 บก.จร. 

3.ส.ต.อ.ปพนธีร์ (สงวนนามสกุล) ผบ.หมู่ งานสายตรวจ 5 กก.1 บก.จร. 

4.ส.ต.อ.กีรติ (สงวนนามสกุล) ผบ.หมู่ งานสายตรวจ 5 กก.1 บก.จร. 

5.ส.ต.อ.วัชรวี (สงวนนามสกุล) ผบ.หมู่ งานสายตรวจ 5 กก.1 บก.จร. 

6.ส.ต.อ.จักรินทร์ (สงวนนามสกุล)  ผบ.หมู่ งานสายตรวจ 1 กก.1 บก.จร. 

7.ส.ต.ท.ณัฐพงษ์ ดุษฎี ผบ.หมู่ งานสายตรวจ 2 กก.1 บก.จร. 

ในฐานความผิด พ.ร.บ.อุ้มหายฯ มาตรา 5 คือ ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 309 มาตรา 310 และมาตรา 172 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 

ขณะที่ นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผอ.กองกิจการอำนวยความยุติธรรม เปิดเผยว่า สำหรับขั้นตอนในวันนี้คือการเรียกทั้ง 7 ผู้ต้องหาให้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งภายหลังมีการแจ้งข้อกล่าวหาเรียบร้อยแล้ว จะต้องมีการปล่อยตัวกลับ ไม่ได้ควบคุมตัวไว้ เพราะผู้ต้องหามีการเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไม่มีการหลบหนี ซึ่งระหว่างนี้ภายในเวลา 2 สัปดาห์ หรือ 15 วัน ผู้ต้องหาทั้งหมดมีหน้าที่ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตามความประสงค์ ซึ่งถ้าหากพนักงานสอบสวนได้รับเอกสารการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว ก็จะต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดคำให้การ เพื่อดูว่าจะต้องมีการเรียกสอบสวนปากคำเพิ่มเติมอีกหรือไม่ และเป็นการเรียกเพิ่มในประเด็นใด อย่างไรก็ตาม การสรุปสำนวนพร้อมความเห็นส่งฟ้องผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการคดีปราบปรามการทุจริต จะเกิดขึ้นภายในเดือน ส.ค. จากนั้นพนักงานอัยการคดีปราบปรามการทุจริต จะมีการสรุปสำนวนสั่งฟ้องไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางต่อไป 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในเวลา 09.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร (ผู้ต้องหา) ทยอยเดินทางเข้าพบคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษก่อน 6 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนสวมชุดลำลอง เสื้อยืด กางเกงยีนส์ และมีการปิดบังอำพรางใบหน้าด้วยการสวมหมวกและแมสก์ และพยายามหลบเลี่ยงการบันทึกภาพของสื่อมวลชน จากนั้นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้พาทั้ง 6 รายขึ้นไปด้านบนอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ห้องประชุม 1 ชั้น 1 เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ อย่างไรก็ตาม ยังเหลือผู้ต้องหาอีก 1 ราย คือ ส.ต.ท.ณัฐพงษ์ ผบ.หมู่ งานสายตรวจ 2 กก.1 บก.จร. ที่ยังไม่ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนในตอนนี้ 

นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานกำกับการสอบสวนคดีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ เปิดเผยว่า คณะทำงานร่วมระหว่างอัยการกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีมติว่า พยานหลักฐานในคดีเพียงพอที่จะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันทำร้ายผู้ต้องหาจนได้รับอันตรายสาหัส โดยมีการสอบปากคำแพทย์ผู้ตรวจรักษา นักกายภาพบำบัด และผู้เชี่ยวชาญด้านสายตา ซึ่งให้การสอดคล้องกันว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง รวมถึงมีภาพจากกล้องวงจรปิดที่ชัดเจนในการระบุตัวผู้กระทำความผิด 

คดีนี้ยังเข้าข่ายความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา และข้อหาเกี่ยวกับการบังคับขืนใจผู้อื่นให้กระทำการบางอย่างตามมาตรา 309 ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยังเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ด้วย 

แม้ผู้ต้องหาบางรายจะไม่ได้ลงมือทำร้ายโดยตรง แต่จากพฤติการณ์และการแบ่งหน้าที่กันทำ อัยการเห็นว่าเข้าข่าย ร่วมกันกระทำความผิดตามหลักกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในที่เกิดเหตุหรือมีการลงมือทุกคน ซึ่งการสอบสวนดำเนินไปอย่างรอบคอบ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาใช้สิทธิต่อสู้คดีและอ้างพยานหลักฐานอย่างเต็มที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการให้ถ้อยคำ โดยมีกำหนดระยะเวลาภายใน 7–15 วัน ก่อนจะมีการสรุปสำนวนส่งให้อัยการสำนักงานปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบดำเนินการต่อไป 

นายวัชรินทร์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันยังพบปัญหาในกระบวนการจับกุมควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดีลักษณะนี้ โดยเจ้าหน้าที่บางหน่วยยังไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด เช่น การไม่แจ้งจับต่ออัยการจังหวัดหรือนายอำเภอในต่างจังหวัด หรือฝ่ายปกครองในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งอาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 หากมีการร้องเรียน 

ด้านนายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผู้อำนวยการกองกิจการอำนวยความยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า วันนี้ผู้ต้องหาทั้งหมดเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามนัดหมายอย่างพร้อมเพรียง และนำทนายความส่วนตัวมาให้คำแนะนำ ซึ่งทุกคนให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล และมีการเตรียมเอกสารหรือพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อนำเสนอแก่พนักงานสอบสวน 

ดีเอสไอจะดำเนินการสอบสวนให้ครบถ้วน ก่อนสรุปความเห็นสั่งฟ้องส่งต่อไปยังอัยการสำนักงานปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจฟ้องร้องคดีในศาลอาญาคดีทุจริตฯ ตามที่ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ กำหนดไว้ โดยการสอบสวนครั้งนี้ถือว่ารอบคอบรัดกุม ให้ความเป็นธรรมทั้งฝ่ายผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหา

Advertisement

แชร์
แจ้งข้อหา 7 ตำรวจจราจร ผิดพ.ร.บ.อุ้มหาย คดีทำร้ายปชช. ปมจับรถผิดคัน