(27 พ.ค. 2568) เวลา 11.00 น. ที่สำนักงานทนายคลายทุกข์ นายเดชา กิตติวิทยานันท์ หรือ ทนายเดชา ได้กล่าวถึงกรณีการเลื่อนประชุมคณะพนักงานสืบสวน กรณีการเสียชีวิตของ น.ส.นิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม นักแสดงชื่อดังที่พลัดตกจากเรือสปีดโบ๊ตกลางแม่น้ำเจ้าพระยาจนเสียชีวิต เมื่อคืนวันที่ 24 ก.พ. 2565 กรณีที่ต้องสงสัยว่ามีกลุ่มบุคคลส่วนต่างๆ ร่วมกันบิดเบือน กระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้การช่วยเหลือแก่บุคคลอื่นให้ไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง ครั้งที่ 3/2568 ว่า โดยหลักแล้วหากหน่วยงานราชการจะแจ้งเรื่องแถลงข่าวจะต้องมีการนัดหมายล่วงหน้า ดังนั้นการยกเลิกการแถลงข่าวฉุกเฉินโดยอ้างว่าติดภารกิจนั้นฟังแล้วไม่น่าเชื่อถือ แสดงให้เห็นว่ามีปัญหาทำให้ไม่สามารถประชุมได้ โดยเท่าที่ตนสอบถามไปยังส่วนราชการต่างๆคิดว่าไม่สามารถดำเนินคดีต่อไปได้
ส่วนตัวทราบมาว่าในการสืบสวนคดีนี้ ดีเอสไอ เองก็ไม่ได้มีความเห็นเป็นเอกภาพ และหากสังเกตดีๆจะพบว่า อธิบดีดีเอสไอหรือโฆษกดีเอสไอก็ไม่เคยออกมาให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ แม้จะเป็นคดีสำคัญที่เป็นข่าวมา 3-4 เดือนก็ตาม ตนจึงอยากตั้งคำถามในฐานะที่ทำงานกับส่วนราชการโดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ได้รับมอบหมายจากอธิบดีให้แถลงข่าวหรือไม่
ทั้งนี้ สำหรับคดีดังกล่าวเท่าที่ตนทราบ คือ ไม่สามารถไปต่อได้แล้ว ในฐานะที่ตนเป็นทนายมา 39 ปี เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว ไม่มีหน่วยงานใดที่จะกล้านำคำพิพากษาศาลมาวิพากษ์วิจารณ์หรือวิเคราะห์ ส่วนที่ พ.ต.ต.ณฐพล บอกว่า คำพิพากษาของศาลเป็นคนละส่วนกับการที่ดีเอสไอจะดำเนินการพิจารณากรณี กลุ่มบุคคลบิดเบือนพยานหลักฐานทางคดีหรือช่วยเหลือคนบนเรือหรือไม่ ทนายเดชาบอกว่าตามหลักของกฎหมายอาญา เมื่อศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนเรือ ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2568 การสืบสวนสอบสวนก็จบลงแล้ว เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน การกระทำเดียวกัน ต้องได้รับการตัดสินหรือลงโทษครั้งเดียว เมื่อตัดสินแล้ว คือ จบ พร้อมทั้งย้ำถึงความเป็นไปได้ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ จะรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษว่า "เปอร์เซ็นต์ที่ดีเอสไอจะรับคดีแตงโมเป็นคดีพิเศษเป็น 0 ขอเอาหัวหมูเป็นประกัน"
ทั้งนี้ หากอ่านคำพิพากษาทุกหน้า (มีทั้งหมด 49 หน้า) จะมีการระบุว่าพยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกัน รวมทั้งการสืบสวนสอบสวนก็ไม่ได้มีพิรุธอะไร แล้วจะใช้คดีนี้ไปดำเนินคดี(เล่นงาน) ตำรวจได้อย่างไร ส่วนคำว่ากลุ่มบุคคล ก็ตีความได้ว่าเป็นตำรวจภูธรภาค 1 ที่ทำคดีนี้ทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนหลายคน เพราะกลุ่มที่ทำคดีก็มีแต่ตำรวจภูธรภาค 1 พร้อมตั้งคำถามว่ามีสาเหตุโกรธเคืองอะไรกันมาก่อนหรือไม่
ทนายเดชา ยังได้ฝากไปถึงชุดทำคดีนี้ด้วยว่าการทำคดีนี้มีความเสี่ยง ซึ่งหากตนจำไม่ผิดมีตำรวจภูธรภาค 1 ไปร้องกับอธิบดีดีเอสไอ แล้วหนึ่งนาย พร้อมบอกด้วยว่า ในคดีนี้ยังไม่สามารถใช้คำว่า "สอบสวน" ได้ เนื่องจากดีเอสไอยังไม่ได้รับเป็นคดีพิเศษ จึงต้องใช้คำว่าสืบสวน เพราะเป็นแค่ชั้น "สืบสวน" อีกทั้งการรับคดีก็เป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งต้องมีเสียง 2 ใน 3 และหากจะมีการรื้อฟื้นคดีใหม่ก็ต้องมีหลักฐานใหม่ที่สามารถเปลี่ยนผลคำพิพากษาได้ ซึ่งหากมีหลักฐานใหม่เหตุใดต้องรอผลคำพิพากษาของศาลจังหวัดนนทบุรี จึงไม่ควรทำคดีต่อไป เพราะในการสืบสวนต้องใช้ภาษีประชาชน หากทำทั้งที่รู้อยู่แล้วว่ามีความเสี่ยง หมายความว่ามีเหตุที่ไม่พอใจสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่
ทนายเดชา ยังได้กล่าวถึงกรณี นางภนิดา ศิระยุทธโยธิน แม่ของแตงโม ในวันฟังคำพิพากษาด้วยว่าหลังจากศาลยกฟ้อง นางภนิดามีอาการเครียด ตนจึงได้ปลอบใจโดยบอกว่าจะมีการคัดคำพิพากษาและยื่นอุทธรณ์ ซึ่งคุณแม่ก็ตอบตกลง แต่เมื่อเจอนักข่าวก็บอกว่า "ไม่ๆ" คือ ไม่อยากคุยแล้ว โดยเท่าที่ได้มีการพูดคุยกันกับตน ทราบว่ายังติดใจกับผลคำตัดสิน และเครียดอยู่ และหลังจากวันนั้นก็ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับนางภนิดาเลย เพราะนางภนิดามีอาการเครียดจึงไม่ได้รับโทรศัพท์ ส่วนจะยื่นอุทธรณ์ หรือไม่นั้น ขอให้เวลากับคุณแม่ตัดสินใจก่อน
ขณะที่มีรายงานว่าระหว่างที่ ทนายเดชา ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนนั้น คุณแม่ ของ แตงโม นิดา ได้ส่งข้อความส่วนตัวมาหาทนายเดชาพร้อมกับระบุว่า ให้มีการดำเนินการทวงเงินกับอดีตคนที่เคยช่วยทำคดีให้กับคุณแม่ด้วย แต่ไม่มีการพูดถึงเรื่องการเดินหน้าเกี่ยวกับคดีของแตงโมนิดา
Advertisement