กรณีโลกโซเชียลมีเดียแห่แชร์คลิปนักเรียนหญิงคนหนึ่ง ขณะกำลังเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่งานนี้ทำเอาชาวเน็ตลุ้นกันจนเหนื่อย เพราะพยาบาลแทงเข็มฉีดยาไม่เข้าเสียที คลิปนี้จึงถูกนำมาโพสต์ลงติ๊กต็อก (TikTok) ชื่อว่า @formmyyy44 พร้อมกับเขียนข้อความไว้ว่า "อะไรคือเข็มแทงไม่เข้า?"
ล่าสุดวันที่ 8 ต.ค.64 ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี วิดีโอคอลไปหา น.ส.กาญจนา ทวีสิทธิ์ อายุ 16 ปี นักเรียนชั้น ม.5 รร.แม่ริมวิทยาคม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตนเป็นนักเรียนที่ถูกฉีดวัคซีนในคลิป ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (7 ต.ค. 64) เวลาประมาณ 09.00 น. ที่รร.แม่ริมวิทยาคม จ.เชียงใหม่ ซึ่งคลิปดังกล่าวมีครูที่โรงเรียนเป็นผู้บันทึกไว้ ตอนที่นั่งฉีดวัคซีนก็รู้สึกได้ว่ามีเข็มแทงเข้าไปที่แขน และตนก็รู้สึกเจ็บนิด ๆ เหมือนการฉีดยาทั่วไป แต่ยังไม่รู้ว่าเข็มแทงไม่เข้า กระทั่งครูนำคลิปมาให้ดู ทำให้รู้ว่าเข็มแทงแขนไม่เข้า ตนก็รู้สึกตกใจและไม่คิดว่าจะเกิดเรื่อแบบนี้ ตอนนี้ก็แค่รู้สึกปวดแขน ปวดหัว แต่ก็ไม่มีอาการรุนแรงอะไร
สำหรับกรณีที่ชาวเน็ตแซวกันว่า ตนมีของขลังนั้น และสอบถามมาว่าห้อยพระอะไร ตนอยากชี้แจงว่าตนไม่ได้ห้อยพระ และไม่ได้สักยันต์ และก่อนที่จะไปฉีดวัคซีนก็ไม่ได้เตรียมตัวอะไร มีเพียงการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ซึ่งตนก็ทำเป็นประจำอยู่แล้ว หลังจากเป็นข่าวชาวเน็ตก็เข้าไปคอมเมนต์แซวต่าง ๆ นานา ทั้งตนและครูก็รู้สึกตกใจ
รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อาจารย์อ๊อด ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า เรื่องที่นักเรียนฉีดไฟเซอร์ แล้วฉีดไม่ทะลุผิวหนังนั้น จะประกอบไปด้วย 2 ปัจจัย อาจเป็นเพราะเข็มทู่ หรือชั้นผิวหนังหนา
โดยการฉีดวัคซีนไฟเซอร์นั้น ถ้าเป็นเข็มแรก การใช้เข็มฉีดยาจะเจาะทะลุขวดวัคซีน เพราะฉะนั้นเข็มจะผ่านพลาสติกฝาขวดวัคซีนที่มีความแข็งพิเศษ หลังจากนั้น จะดูดยาออกจากขวด อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เข็มปลายทู่ เช่น แทงเอียงหรือเฉียง และเมื่อเจอขอบแก้ว อาจทำให้เข็มทู่ได้ เมื่อดึงออกมาฉีดที่แขน จึงคิดว่าผิดหนังของคนที่ฉีดเหนียวหรือหนา
อ.อ๊อด อธิบายด้วยว่า ความหนาของชั้นผิวหนังของแต่ละคนจะต่างกัน บางคนผิวหนังมีความยืดหยุ่นสูง การแทงทะลุด้วยเข็มปลายทู่จึงเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม จึงไม่เกี่ยวกับไสยศาสตร์ พระที่คล้องคอห้อย หรือไม่เกี่ยวกับคาถาอาคมแต่อย่างใด
Advertisement