การบินไทย พลิกกำไรกว่า 1.1 หมื่นล้าน จากการขายสินทรัพย์ แต่ผลดำเนินงานการบินยังขาดทุน

16 ส.ค. 64

การบินไทย เผยรอบ 6 เดือนปี64 มีกำไร11,125 ล้านบาทจากการทยอยขายสินทรัพย์ ส่วนรายได้จากโดยสารและสินค้า 1.02 หมื่นล้านบาทลดจากปีก่อนกว่า 74.8%ยังขาดทุน 1.4 หมื่นล้านบาทเผยสินทรัพย์เหลือ 1.68 แสนล้านบาท เตรียมขายเครื่องบินอีก 13 ลำ



บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 2564 ว่า บริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงาน 14,335 ล้านบาท มีรายได้รวมทั้งสิ้น 10,220 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 30,273 ล้านบาท หรือ 74.8% โดยมีรายได้การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 30,486 ล้านบาท (84.2%) และรายได้จากการบริการอื่นๆ ลดลง 1,417 ล้านบาท (35.5%) ในขณะที่มีรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 1,630 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทฯมีรายได้จากค่าโดยสารและค่าน้ำหนักส่วนเกิน จำนวน 1,888 ล้านบาท ลดลงจากปี ก่อน 29,245 ล้านบาท (93.9%) จากปริมาณการขนส่งผู้โดยสารที่ลดลง 95.4% ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทฯ และบริษัทย่อย ยกเลิกเที่ยวบินแบบประจำทั้งหมดเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 เป็นต้นมา โดยบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด เริ่มกลับมาเปิดให้บริการผู้โดยสารในเส้นทางภายในประเทศอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 แต่เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ในช่วงปลายปี 2563 และระลอกที่ 3 เมื่อเดือนเมษายน 2564 ประกอบกับมาตรการจํากัดการเดินทางระหว่างประเทศท ทำให้ต้องมีการพิจารณาปรับจำนวนเที่ยวบินตามจำนวนความต้องการของผู้โดยสารที่ลดลง ยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้

ส่วนรายได้จากค่าระวางขนส่งและไปรษณียภัณฑ์ มีจำนวน 3,842 ล้านบาท ลดลงจากปี ก่อน 1,241 ล้านบาท (24.4%) เนื่องจากการยกเลิกเที่ยวบินแบบประจำทั้งหมดเป็นการชั่วคราว โดยรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทฯ ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่เป็นการให้บริการแบบเช่าเหมาลำ (Charter Flight) ส่วนรายได้จากหน่วยธุรกิจ ได้แก่ การบริการภาคพื้น ครัวการบิน การบริการคลังสินค้า และรายได้จากกิจการสนับสนุนอื่นๆ รวมจำนวน 2,575 ล้านบาท ลดลงจากปี ก่อน 1,417 ล้านบาท (35.5%) สาเหตุหลักเกิดจากจำนวนสายการบินลูกค้าที่ลดลง ตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้กาหนดเงื่อนไขในการอนุญาตให้อากาศยานทำการบินเข้าออกประเทศไทยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19

ขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 24,555 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 34,246 ล้านบาท (58.2%) เนื่องจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่แปรผันตามปริมาณการผลิตการขนส่งที่ลดลง ตลอดจนการดำเนินการเพื่อลดค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นรายได้จำนวน 25,899 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ การขายเงินลงทุนในบริษัทย่อย และปรับปรุงต้นทุนอากาศยาน เป็นต้น ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ จำนวน 11,121 ล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 11,125 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 5.10 บาท

โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจำนวน 168,582 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จำนวน 40,715 ล้านบาท (19.5%) มีหนี้สินรวมจำนวน 285,066 ล้านบาท ลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 จำนวน 52,896 ล้านบาท (15.7%) ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีจำนวน -116,484 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จำนวน 12,181 ล้านบาท

โดยมีเครื่องบินที่ใช้ในการดำเนินงาน จำนวน 103 ลำ (รวมเครื่องบินแอร์บัส A320-200 จำนวน 20 ลำ ซึ่งใช้ดำเนินงานโดยบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด) เท่ากับ สิ้นปี 2563 และมีเครื่องบินที่ปลดระวางและรอการขาย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 จำนวน 13 ลำ ได้แก่ เครื่องบินแบบแอร์บัส A340-500 จำนวน 3 ลำ A340-600 จำนวน 6 ลำ A300-600 จำนวน 1 ลำและเครื่องบินแบบโบอิ้ง B737-400 จำนวน 3 ลำ

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ และแผนปฏิรูปธุรกิจทั้งในส่วนของการหารายได้เสริมจากกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากการขนส่ง และการปรับลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง อาทิ การปรับโครงสร้างและลดขนาดองค์กร รวมทั้งต้นทุนการดำเนินงานด้านอื่นๆ เพื่อรักษาสภาพคล่องระหว่างจัดหาสินเชื่อใหม่และจนกว่าสถานการณ์โดยรวมในอุตสาหกรรมการบินจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

advertisement

Powered by Positioning

คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด