ไขข้อสงสัย ทำไมการ สตาร์ทรถนอน ถึงได้เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่นั่งรถและขับทั้งวันไม่เป็นอะไร นั่นก็เพราะการติดรถและเปิดแอร์นอน อาจได้รับ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ภัยร้ายไร้กลิ่นเยอะจนเสียชีวิต และเมื่อชันสูตรมาเลือดกลายเป็นเชอร์รี่พิงค์
การใช้รถยนต์เพื่อการเดินทาง นับเป็นอีกหนึ่งการเดินทางที่หลายคนเลือกใช้ เมื่อต้องเดินทางในระยะไกล บางรายอาจมีการเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้เกิดอาการง่วงระหว่างทาง แต่ถึงแม้จะระวังตัวแค่ไหน อาการง่วงหรืออ่อนเพลียระหว่างทาง เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้แบบไม่ทันตั้งตัว ซึ่งสำหรับผู้ขับขี่บางคน อาจใช้วิธี สตาร์ทรถนอน เพื่อเรียกกำลังระหว่างทาง แต่หาได้รู้ไม่ว่า อาจมีอันตรายเกิดขึ้นกับตัวคุณ
หลายครั้งที่มีการนำเสนอข่าว การเสียชีวิตภายในรถ บางรายอาจได้รับการชันสูตรแล้วว่า "เกิดจากการ สตาร์ทรถนอน จนทำให้เกิดการเสียชีวิต" ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วการใช้วิธีพักสายตาภายในรถ อาจเกิดการหลับเพลินจนเกิดอันตราย และได้รับปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์สูง จนทำให้เกิดการเสียชีวิต ทีนี้มาทำความเข้าใจกันว่า ทำไมการสตาร์ทรถนอนถึงอันตราย
ตอบข้อสงสัย ทำไมสตาร์ทรถนอนถึงเสียชีวิต
สาเหตุที่การสตาร์ทรถนอนถึงเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต เกิดจากการที่ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์สะสมอยู่ในห้องโดยสารมากเกินไป การสตาร์ทรถและจอดไว้ที่เดิม ทำให้อากาศภายในรถไม่ถ่ายเท และระหว่างที่หลับโดยไม่ดับเครื่องหรือเปิดกระจกระบายอากาศ ทำให้ร่างกายต้องสูดดมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าสู่ร่างกายอย่างไม่มีทางเลี่ยง ซึ่งก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ไม่มีทั้งสีและกลิ่น เมื่อรับเข้าร่างกายแล้ว จะแย่งกันจับตัวกับเม็ดเลือดแดงแทนออกซิเจน
การสตาร์ทรถและเปิดแอร์ตลอดระหว่างที่หลับ โดยที่รถไม่มีการเคลื่อนไหว จะเกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ จนเกิดเป็นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ระบบแอร์ของรถยนต์อาจมีการดูดอากาศภายนอก หรือควันของท่อไอเสียมาหมุนเวียนภายในรถ โดยที่ไม่มีการถ่ายเทอากาศ โดยปกติระหว่างที่รถยนต์ขับเคลื่อน จะมีการไหลเวียนของอากาศภายนอกและภายในอยู่เสมอ ด้วยการถ่ายอากาศเสียออกทางท่อไอเสีย และรับอาการที่ดีเข้ามา
ลดกระจกนอนในรถ พร้อมสตาร์ทรถปลอดภัยหรือไม่
บางคนใช้วิธีติดเครื่องยนต์ไปพร้อมกับการเปิดกระจกระบายอากาศ โดยเชื่อว่าจะช่วยลดการสะสมของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ สามารถทำได้จริงแต่มันช่วยได้แค่เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะสุดท้ายแล้วการเปิดกระจกระหว่างสตาร์ทเครื่องยนต์นิ่ง ๆ ไม่ได้ช่วยให้ถ่ายเทอากาศเสียออกทั้งหมด ยังมีบางส่วนที่ขังไว้ในรถ ระดับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เพิ่มสูงขึ้น ระดับออกซิเจนโดยรอบลดลงอยู่ดังเดิม
นอกจากนี้ สำหรับผู้โดยสารบางคนที่หลับระหว่างที่รถเคลื่อนที่ ยังเกิดอาการข้างเคียงอื่นจากการสูดดมก๊าซภายในห้องโดยสาร เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ หายใจลำบาก อีกทั้งผู้ที่นั่งระหว่างที่ติดไฟแดงโดยที่ไม่ได้หลับ ก็ยังอาจเกิดอาการเช่นนี้ได้ด้วยเช่นกัน บางรายเพียงแค่สตาร์ทรถรอเป็นเวลา 10 นาที ยังต้องดับรถและเปลี่ยนวิธีการรอด้วยการลงไปหาที่นั่งรอ เพราะรู้สึกถึงความไม่สบายตัว
สาเหตุที่เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ภายในห้องโดยสารรถยนต์
ปัจจัยที่จะทำให้ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ รั่วไหลภายในห้องโดยสารมีหลายปัจจัย ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการเสื่อสภาพของรถ และการดัดแปลงรถยนต์ ห้องโดยสารในรถยนต์เดิมไม่สามารถป้องกันการรั่วไหลได้ครบถ้วน อาจมีการซึมเข้ามาตามช่องประตู หรือรูอุดที่มองไม่เห็นได้อยู่แล้ว แต่ถ้าหากเพิ่มเรื่องความเสื่อสภาพของรถ การดัดแปลงตัวรถ พร้อมด้วยไม่มีการบำรุงรักษา ยิ่งอาจทำให้เกิดการรั่วไหลเข้ามาในตัวรถเป็นปริมาณมาก
ในความเป็นจริงแล้ว ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ปนอยู่ในอากาศรอบตัวอยู่แล้ว ร่างกายอาจมีโอกาสได้รับเข้าไปอย่างต่อเนื่องหรือเป็นประจำ เพียงแต่ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่ปะปนอยู่ในอากาศ มีเพียง 0.5-5 ppm เท่านั้น ซึ่งระดับที่เป็นอันตรายต่อร่างกายจะอยู่ที่ 1-200 ppm เมื่อได้รับอย่างต่อเนื่องในเวลา 4 ชั่วโมง ร่างกายจะเริ่มแสดงถึงอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อย เวียนศีรษะ บางรายอาจมีอาการซึม หรือชักเกร็งจนเสียชีวิตในที่สุด
ทริคนอนในรถให้ปลอดภัย
- เปิดกระจกรถยนต์ หรือปรับโหมดเครื่องปรับอากาศ เพื่อรับอากาศภายนอก
- ควรหาที่จอดในที่โล่ง ไม่ควรจดในสถานที่ปิด จำพวกอาคารจอดรถโดยเด็ดขาด
- แง้มกระจกเล็กน้อย พอให้ไม่สามารถใช้มือลอดเข้ามาได้
- หมั่นเช็กการเสื่อมสภาพของขอบยาง ขอบประตู หรือหน้าต่างรถ
- ปรับโหมดเครื่องปรับอากาศ เพื่อกระตุ้นให้ไฟฟ้าทำงาน
- ตั้งเวลาในการนอน ให้เป็นแค่การพักสายตา และอยู่ใน 15-20 นาทีเท่านั้น
- เตรียมความพร้อมร่างกาย ก่อนที่จะออกเดินทาง หากง่วงหรือมึนเมา ไม่ควรขับรถ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์คันเก่าหรือรถที่เพิ่งออกใหม่ ก็ไม่ควรเปิดแอร์และสตาร์ทรถนอนทั้งนั้น เพราะการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ไม่เคยมีสัญญาณเตือน อย่าลืมว่าก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ไม่มีสีไม่มีกลิ่น ไม่มีทางที่จะรู้ตัวได้เลยว่า ตอนนี้ได้รับการสูดดมเข้าไปในปริมาณมากแค่ไหน โดยเฉพาะขณะที่หลับยิ่งไม่ควรเป็นอันขาด!
ที่มา : กรมการขนส่งทางบก (safedrivedlt.com) / องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (facebook.com) / โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (chulalongkornhospital.go.th)